(Translated by https://www.hiragana.jp/)
การเลือกตั้งในประเทศเยอรมนี - วิกิพีเดีย ข้ามไปเนื้อหา

การเลือกตั้งในประเทศเยอรมนี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การเลือกตั้งในประเทศเยอรมนี มีทั้งการเลือกตั้งสมาชิกสภาสหพันธ์ (Bundestag), สภามลรัฐ (Landtag) และการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่น

การเลือกตั้งในประเทศเยอรมนีได้รับบัญญัติไว้ในหลายมาตราในกฎหมายพื้นฐานสำหรับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (กฎหมายสูงสุดของเยอรมนี) ซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์ไว้หลายอย่าง เช่นกำหนดให้การเลือกตั้งกระทำด้วยการลงคะแนนแบบลับ กำหนดให้เลือกตั้งทุกครั้งต้องเป็นไปอย่างสุจริตเที่ยงธรรม และยังกำหนดให้สภาสหพันธ์ตรากฎหมายโดยละเอียดเพื่อกำกับการเลือกตั้ง (เรียกว่ากฎหมายเลือกตั้ง) นอกจากนี้มาตรา 38 แห่งกฎหมายพื้นฐาน ได้บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปไว้ว่า "ผู้ใดก็ตามที่อายุครบสิบแปดปีจะมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน ผู้ใดก็ตามที่มีอายุบรรลุนิติภาวะจะมีสมัครรับเลือกตั้ง"[1]

การเลือกตั้งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

[แก้]
ระบบการเมืองเยอรมัน

ระบบการลงคะแนน

[แก้]

การเลือกตั้งในระดับสหพันธ์จัดประมาณทุกสี่ปี ตามข้อกำหนดแห่งรัฐธรรมนูญให้จัดการเลือกตั้งภายในระยะเวลา 46 ถึง 48 เดือนหลังการเปิดประชุมรัฐสภา[2] โดยสามารถจัดการเลือกตั้งก่อนได้ในพฤติการณ์พิเศษตามรัฐธรรมนูญ ตัวอย่างเช่น กรณีนายกรัฐมนตรีแพ้มติไม่ไว้วางใจในสภาบุนเดิสทาค ซึ่งในช่วงผ่อนผันก่อนบุนเดิสทาคจะลงมติเลือกผู้จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่นั้น นายกรัฐมนตรีสามารถขอต่อประธานาธิบดีสหพันธ์ให้ยุบบุนเดิสทาคและจัดการเลือกตั้งใหม่ หากบุนเดิสทาคถูกยุบสภาก่อนครบวาระสี่ปี จะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 100 วัน ประธานาธิบดีเป็นผู้กำหนดวันที่การเลือกตั้งแน่ชัด[3] และต้องตรงกับวันอาทิตย์หรือวันหยุดราชการ

ผู้มีสัญชาติเยอรมันอายุเกิน 18 ปี ซึ่งเป็นผู้พำนักในประเทศเยอรมนีเป็นเวลาอย่างน้อยสามเดือนมีสิทธิเลือกตั้ง คุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยหลักไม่ต่างกัน

สภานิติบัญญัติสหพันธ์ในประเทศเยอรมนีเป็นรัฐสภาระบบสภาเดี่ยว คือ บุนเดิสทาค (สภานิติบัญญัติสหพันธ์) ส่วนบุนเดซรัท (สภาสหพันธ์) นั้นเป็นตัวแทนของภูมิภาคต่างๆ โดยไม่ถือเป็นสภาเพราะสมาชิกมิได้มาจากการเลือกตั้ง การเลือกตั้งสมาชิกสภาบุนเดิสทาคใช้ระบบสัดส่วนสมาชิกผสม (mixed-member proportional)

ผู้ออกเสียงลงคะแนนมีสองคะแนนเสียง คะแนนเสียงแรกเลือกสมาชิกบุนเดิสทาคสำหรับเขตเลือกตั้งของตน และคะแนนเสียงที่สองออกเสียงให้พรรคการเมือง ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงต่ำสุด (minimum threshold vote) ที่นั่งทั้งหมดในบุนเดิสทาคถูกจัดสรรตามสัดส่วนคะแนนเสียงของพรรคการเมือง พรรคการเมืองที่ชนะในแบบแบ่งเขตในรัฐหนึ่งมากกว่าที่มีสิทธิตามจำนวนคะแนนเสียงพรรคการเมืองที่ได้ในรัฐนั้นให้เก็บที่นั่ง "ส่วนขยาย" (overhang seat) เหล่านั้นไว้ได้

ประกอบด้วยสมาชิกอย่างน้อย 598 คน มีวาระสี่ปี โดยสมาชิกจำนวน 299 คนหรือครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้งในแบบแบ่งเขตเลือกแบบมีผู้แทนคนเดียวโดยระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด (first-past-the-post) ส่วนอีก 299 คนมาจากการจัดสรรจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง (party list) เพื่อให้เป็นสัดส่วนในสภานิติบัญญัติ และบัญชีรายชื่อใช้เพื่อทำให้ดุลของพรรคการเมืองตรงกับการกระจายของคะแนนเสียงที่สอง อาจเพิ่มที่นั่งเกินจากสมาชิกในนาม 598 คนได้ ตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งสหพันธ์ปีพ.ศ. 2552 มีที่นั่งส่วนขยาย 24 ที่นั่ง ทำให้มีผู้แทนทั้งหมด 622 ที่นั่ง เกิดจากพรรคการเมืองใหญ่ชนะการเลือกตั้งแบบเขตเลือกตั้งคนเดียวเพิ่มจากทั้งหมดที่กำหนดโดยคะแนนเสียงพรรคการเมืองตามสัดส่วนของพรรคนั้น

ประเทศเยอรมนีเป็นระบบหลายพรรคการเมืองโดยมีพรรคการเมืองเข้มแข็งสองพรรค และพรรคที่สามอื่นๆ ซึ่งยังมีผู้แทนในบุนเดิสทาค ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2533 มีพรรคการเมืองจำนวนห้าพรรค (นับ CDU และ CSU เป็นพรรคเดียว) มีผู้แทนในสภาบุนเดิสทาค

ในปีพ.ศ. 2551 มีการกำหนดการดัดแปลงระบบการเลือกตั้งบางอย่างภายใต้คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า บทบัญญัติในกฎหมายเลือกตั้งสหพันธ์ซึ่งทำให้พรรคการเมืองมีน้ำหนักคะแนนเสียงลบ (negative vote weight) แล้วทำให้เสียที่นั่งเพราะคะแนนเสียงมากกว่า ละเมิดการรับรองตามรัฐธรรมนูญว่าระบบเลือกตั้งเท่าเทียมกันและโดยตรง[4]

ศาลรัฐธรรมนูญได้อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายมีกรอบเวลาสามปี ดังนั้น การเลือกตั้งสหพันธ์ปีพ.ศ. 2552 จึงได้รับอนุญาตให้ดำเนินภายใต้ระบบเดิม การเปลี่ยนแปลงนี้กำหนดในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554 แต่กฎหมายใหม่ที่เหมาะสมยังไม่เสร็จสมบูรณ์ทันภายในกรอบเวลานั้น ซึ่งก็ได้มีการตรากฎหมายเลือกตั้งใหม่ในปลายปีพ.ศ. 2554 แต่ศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์วินิจฉัยว่ามิชอบด้วยรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่งจากคดีจากพรรคฝ่ายค้านและกลุ่มพลเมืองราว 4,000 คน[5]

สุดท้าย สี่จากห้ากลุ่มการเมืองในสภาตกลงการปฏิรูปการเลือกตั้งซึ่งให้ถือจำนวนที่นั่งในสภาจะเพิ่มขึ้นมากเท่าที่จำเป็นเพื่อรับประกันว่าจะมีการชดเชยที่นั่งผ่านระบบการปรับที่นั่ง (leveling seat) เพื่อรับรองความได้สัดส่วนสมบูรณ์ตามสัดส่วนคะแนนเสียงของพรรคการเมืองในระดับชาติ[6] ต่อมาสภาบุนเดิสทาคได้อนุมัติและตรากฎหมายการปฏิรูปการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556[7]

อ้างอิง

[แก้]
  1. มาตรา 38 วรรค 2 (ข้อความต้นฉบับ): "Wahlberechtigt ist, wer das achtzehnte Lebensjahr vollendet hat; wählbar ist, wer das Alter erreicht hat, mit dem die Volljährigkeit eintritt."
  2. "Art. 39 Grundgesetz". Grundgesetz Bundesrepublik Deutschland. Bundesministerium der Justiz. 19 March 2009. สืบค้นเมื่อ 5 June 2009.
  3. "§16 Bundeswahlgesetz". Bundeswahlgesetz Bundesrepublik Deutschland. Bundesministerium der Justiz. 3 June 2008. สืบค้นเมื่อ 5 June 2009.
  4. "Federal Constitutional Court decision on the Federal Election Law". Bverfg.de. สืบค้นเมื่อ 20 September 2013.
  5. Decision of the Federal Constitutional Court. 25 July 2012. Retrieved 13 August 2012.
  6. Bill amending the Federal Election Law. 11 December 2012. Retrieved 25 December 2012.
  7. ZEIT ONLINE GmbH, Hamburg, Germany (22 February 2013). "Bundestag: Deutschland hat ein neues Wahlrecht | ZEIT ONLINE". Zeit.de. สืบค้นเมื่อ 20 September 2013.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)