(Translated by https://www.hiragana.jp/)
บุก - วิกิพีเดีย ข้ามไปเนื้อหา

บุก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

บุก
ดอกบุกยักษ์ (Titan arum หรือ Amorphophallus titanum) บุกที่มีช่อดอกใหญ่ที่สุด
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
อาณาจักร: พืช
Plantae
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
Tracheophytes
เคลด: พืชดอก
Angiosperms
เคลด: พืชใบเลี้ยงเดี่ยว
Monocots
อันดับ: อันดับขาเขียด
Alismatales
วงศ์: วงศ์บอน
Araceae
วงศ์ย่อย: Aroideae
Aroideae
เผ่า: Thomsonieae
Thomsonieae
สกุล: บุก
Amorphophallus
Blume ex Decne.
ชนิดต้นแบบ
Amorphophallus paeoniifolius
Species

ดูในบทความ

ชื่อพ้อง[1]
  • Allopythion Schott
  • Brachyspatha Schott
  • Candarum Schott
  • Conophallus Schott
  • Corynophallus Schott
  • Dunalia Montrouz.
  • Hansalia Schott
  • Hydrosme Schott
  • Kunda Raf.
  • Plesmonium Schott
  • Proteinophallus Hook.f.
  • Pseudodracontium N.E.Br.
  • Pythion Mart.
  • Pythonium Schott
  • Rhaphiophallus Schott
  • Synantherias Schott
  • Tapeinophallus Baill.
  • Thomsonia Wall.

บุก หรือ สกุลบุก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Amorphophallus) เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปีหลากชนิด ในวงศ์บอน (Araceae) มีหัวใต้ดินขนาดใหญ่ ออกดอกในช่วงต้นฤดูฝน ขณะบานส่งกลิ่นเหม็นมาก เมื่อดอกโรยแล้วใบจะงอกตามออกมาเพียงใบเดียว ก้านดอกและก้านใบกลมยาว และพักตัวในฤดูแล้ง ลำต้นเหี่ยวแห้งและเหลือหัวอยู่ใต้ดิน[2] มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในภูมิภาคเขตร้อนในทวีปเอเชีย แอฟริกา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปออสเตรเลีย และหมู่เกาะในมหาสมุทรต่าง ๆ[3][4] ไปจนถึงเขตอบอุ่นตอนกลาง ของประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น รวมทั้งในประเทศไทย

พืชในสกุลบุกบางชนิดกินได้ และจัดเป็น "อาหารในภาวะทุพภิกขภัย" โดยส่วนของก้านใบ ก้านดอกอ่อน และหัวใต้ดิน มาบริโภคได้ซึ่งต้องผ่านการเตรียมอาหารอย่างระมัดระวังเพื่อขจัดสารเคมีที่ก่อความระคายเคือง[5] หัวบุกบางชนิดยังนำมาแปรรูปเป็นผงบุกซึ่งนำไปสกัดได้สารกลูโคแมนแนน ซึ่งมีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ ชนิดที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักได้แก่ ดอกบุกยักษ์ (A. titanum) ในอินโดนีเซียซึ่งเป็นหนึ่งในพืชชนิดที่มีช่อดอกที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "ดอกซากศพ" จากกลิ่นฉุนที่เกิดขึ้นในช่วงดอกบาน[6] และอีกชนิดคือคอนยัค ที่รู้จักดีในการใช้เป็นอาหารญี่ปุ่นเรียก คนเนียกุ (บุกก้อนและบุกเส้น)

ประวัติ

[แก้]

บันทึกที่เก่าที่สุดของการจัดระบบอนุกรมวิธานพืชบุก คือในปี 1692 เมื่อเฮนดริค ฟาน รีเดอ (Van Rheede tot Drakenstein) ตีพิมพ์ระบุชนิดพืช 2 ชนิดในสกุล โดยชื่อสกุล "Amorphophallus" ถูกระบุเป็นครั้งแรกโดยคาร์ล บรูเมอ (Carl Ludwig Blume) นักพฤกษศาสตร์ชาวดัตช์ในปี 1834[7] ต่อมาระหว่างปี 1876 ถึง 1911 อดอล์ฟ เองเกลอร์ (Engler) ได้รวมสกุลอื่น ๆ จำนวนหนึ่งเข้าใน Amorphophallus และลงในบทความเกี่ยวกับสกุลนี้ซึ่งระบุเป็นเอกสารฉบับสุดท้าย ตีพิมพ์ในปี 1911[7] ด้วยสีและกลิ่นของดอกจึงมักถูกเรียกว่า "purple aki" (ชื่ออาชญากรในอังกฤษช่วงปี 1995–2000)

อนุกรมวิธาน

[แก้]

ชื่อสกุล Amorphophallus มาจากภาษากรีกโบราณ amorphos "ไม่มีรูปร่าง" หรือ "ผิดรูป" + phallos "องคชาต" จากรูปร่างของช่อดอกเชิงลดแบบมีกาบ (spadix) ที่โดดเด่น

บุกเป็นสกุลขนาดใหญ่ของพืชสมุนไพรที่มีหัวในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนประมาณ 200 ชนิดจากวงศ์บอน (Araceae)

รายชื่อชนิด

[แก้]
ดอกบุกยักษ์ (Amorphophallus titanum) ภาพขยาย
บุกคางคก (Amorphophallus paeoniifolius)
บุกเกลี้ยง (Amorphophallus bulbifer)
Amorphophallus prainii
Amorphophallus rivieri

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

[แก้]

บุก (Amorphophallus) เป็นพืชพืชล้มลุก อายุหลายปี หลายชนิดมีขนาดตั้งแต่เล็กถึงใหญ่ เจริญจากหัวใต้ดิน หัวบุกมีความแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละชนิด ตั้งแต่หัวทรงกลมสม่ำเสมอของบุกคอนยัค (A. konjac) หัวยาวของ A. longituberosus และทรงกระบอก A. macrorhizus หรือลักษณะคล้ายหัวมันแกว หรือหน่อรอบหัว ไปจนถึงหัวที่มีลักษณะกระจุก ๆ ของ A. coaetaneus[2][9]

ใบเดี่ยว เป็นใบประกอบแตกแขนง สองชั้น สามชั้น หรือหลายแขนง ก้านใบเป็นลำกลมตั้งตรง เกิดขึ้นมาจากกลางหัวบุก ใบแฉกและปลายใบแหลมลักษณะคล้ายใบมะละกอ ลักษณะคล้ายลำต้นซึ่งเรียกว่า ลำต้นเทียม ผิวลำต้นมีสีเขียวเข้ม บางชนิดมีลายเป็นเส้นตรง ลายกระ ลายด่าง มีสีเขียวสลับขาวหรือน้ำตาลอ่อน บางชนิดสีเขียวล้วน น้ำตาลล้วน มีทั้งชนิดที่ผิวเรียบ บางชนิดก้านใบมีหนามอ่อนทั่วทั้งก้านใบ โดยทั่วไปออกใบหลังจากดอกโรยแล้วจากกลางหัว[2][9]

ดอก คล้ายดอกหน้าวัว (เป็นพืชวงศ์เดียวกัน) คือมีกาบและฝักดอกตรงกลาง เป็นดอกไม้แบบดอกรวมที่ไม่มีกลีบดอก ดอกบุกแต่ละชนิดมีขนาด สี และรูปทรงต่างกัน บางชนิดมีดอกขนาดใหญ่มากสูงได้หลายเมตรและมีกลิ่นเหม็นเหมือนเนื้อสัตว์เน่า บุกบางชนิดมีดอกเล็ก บางชนิดมีกลิ่นหอม ก้านดอกงอกโผล่ขึ้นตรงจากกลางหัวบุกเช่นเดียวกับก้านใบ ช่อดอกบุกมีกาบหุ้มช่อ ภายในช่อดอกแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกด้านบนสุดเป็นส่วนของจะงอยเกสรเพศผู้ ลักษณะคล้ายดอกบัวตูม, กลมป้อม, ยาวรี หรือทรงกระบอก ส่วนที่สองเป็นดอกเพศผู้ลักษณะคล้ายไข่ปลาเรียงชิดติดกันแน่น บางชนิดจะมีส่วนของดอกเพศผู้ที่เป็นหมันปนอยู่ ส่วนใหญ่มักเป็นสีน้ำตาลอมม่วงหรือขาวอมเขียว ข้างในมีสันหรือหูดซึ่งทำหน้าที่เป็นกับดักแมลง ส่วนที่สามด้านล่างสุดคือ ดอกเพศเมีย ประกอบด้วยยอดแกสรเพศเมีย ก้านเกสรเพศเมีย และรังไข่[2][9]

ดอกตัวเมียที่โตเต็มที่มักจะบานเปิดรับเกสรเพศผู้ได้เพียง 1 วัน หลายชนิดช่อดอกส่งกลิ่นของเนื้อเน่าเพื่อดึงดูดแมลงผสมเกสร (แม้ว่าบางชนิดอาจมีกลิ่นหอม) ให้เดินผ่านกับดักแมลงซึ่งมีลักษณะทางเดียวคือ กาบดอกที่เรียวแคบลง แมลงผสมเกสรต้องเดินผ่านดอกตัวผู้จำนวนมากที่เจริญเต็มที่และปล่อยละอองเรณู ซึ่งตกลงบนตัวและขนของแมลงเหล่านี้ จากนั้นจะตามกลิ่นที่ปล่อยออกจากดอกเพศเมียที่ด้านล่างและเกิดการผสมเกสร ดอกของบุกยังใช้เป็นพืชอาหารโดยหนอนผีเสื้อและผีเสื้อกลางคืน (Lepidoptera) บางชนิดเช่น Palpifer sexnotatus และ Palpifer sordida

ผลอ่อนของบุกเป็นแบบผลเบอร์รี่ทรงกลมมีสีขาวอมเหลือง เมื่อสุกแก่เปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม สีม่วง สีส้ม หรือสีแดง แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิด มักมีจุกดำที่ปลายคล้ายผลกล้วย ผลของบุกส่วนใหญ่จะมีลักษณะคล้าย ๆ กัน แต่เมล็ดภายใน แตกต่างกัน บางชนิดมีเมล็ดรูปกลม[9] แต่ส่วนมากมีเมล็ดเป็นรูปทรงกลมรี บุกบางชนิดมีเมล็ดจำนวนมากกว่าพันเมล็ด ในขณะที่บุกชนิดที่มีขนาดเล็กชนิดอื่น มีเมล็ดจำนวนไม่เกินร้อยเมล็ด[2]

วงจรชีวิต

[แก้]

บุกเป็นพืชหัวล้มลุกที่มีช่วงการเจริญเติบโตทางลำต้นต่างปีกับที่เจริญเติบโตเป็นดอก ส่วนใหญ่มีการเจริญเติบโตทางลำต้นเพียงอย่างเดียวนาน 4–6 ปี จึงเข้าสู่ช่วงออกดอก บุกซึ่งมีดอกส่วนใหญ่จะไม่มีการเจริญเติบโตทางลำต้น โดยธรรมชาติจะเริ่มงอกและเจริญเติบโตในช่วงปลายฤดูแล้งต่อฤดูฝน หัวที่งอกและเจริญเติบโตเป็นดอกจะงอกได้เร็วกว่าหัวที่เจริญเติบโตเป็นต้น โดยมีลักษณะการเจริญเติบโตแบบถ่ายหัว หัวที่เกิดใหม่จะซ้อนอยู่ด้านบนของหัวเดิม หัวเก่าจะฝ่อและเหี่ยวแห้งไปเมื่อต้นและใบเหี่ยวเฉาหรือผลสุกแก่เต็มที่ หัวก็เริ่มเข้าสู่ระยะพักตัวรอเวลาและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่องอกเป็นต้นหรือเป็นดอกในปีต่อไป

ชนิดเด่น

[แก้]
  • บุกยักษ์ (Amorphophallus titanum หรือ 'corpse flower' หรือ titan arum) พบที่หมู่เกาะสุมาตรา มีช่อดอกที่ไม่มีกิ่งก้านที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีความสูงได้ถึง 2.5 เมตร (8.2 ฟุต) และกว้าง 1.5 เมตร (4.9 ฟุต) เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2015 ดอกบุกยักษ์ที่สวนพฤกษชาติชิคาโกสูงมากกว่า 1.2 เมตร (3.9 ฟุต) ซึ่งมีผู้เข้าชมหลายพันคนต่อแถวเพื่อดูและดมกลิ่น ได้รับการขนานนามว่า "อลิซ" นักจัดดอกไม้อธิบายว่ามันมีกลิ่น "กลิ่นแรงมาก เหมือนคนจรจัด ยุ้งข้าว ผ้าอ้อมสกปรก และมีกลิ่นเหมือนลูกเหม็นเล็กน้อยด้วย" บุกยักษ์มีถิ่นกำเนิดในป่าฝนของประเทศอินโดนีเซีย ใช้เวลาประมาณ 7-10 ปีจึงจะออกดอก[10]
  • Amorphophallus gigas ซึ่งมีลำต้นเทียมที่สูงกว่า แต่มีช่อดอกที่เล็กกว่า[ต้องการอ้างอิง]
  • บุกคอนยัค (Amorphophallus konjac) ใช้ทำคนเนียกุ (コンニャク) สารเพิ่มความข้นในอาหารญี่ปุ่นและเป็นวุ้นที่กินได้ซึ่งมีกลูโคแมนแนน

การแพร่กระจายและถิ่นที่อยู่

[แก้]

บุกเป็นพืชในที่ลุ่มทั่วไป เติบโตในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนของพื้นที่เขตร้อนของแอฟริกา, เอเชีย และ โอเชียเนีย (Paleotropical Kingdom) ไม่พบในทวีปอเมริกา แม้ว่าจะมีสกุล Dracontium คล้ายคลึงกันมากแต่ไม่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกัน บุกส่วนใหญ่เป็นชนิดพืชเฉพาะถิ่น บุกเติบโตได้ดีบนพื้นที่รกร้างเช่น ป่าทุติยภูมิ[11]

ชนิดที่พบในประเทศไทย

[แก้]

ในประเทศไทยพบ 68 ชนิด เป็นบุกพื้นเมือง 64 ชนิด โดยพบทางภาคเหนือของไทยมากกว่า 41 ชนิด จากการสำรวจพบบุกบนพื้นที่สูงในจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และน่าน[12]

ชนิดที่สำคัญ[9][13] ได้แก่

การใช้ประโยชน์

[แก้]

บุกคอนยัค

[แก้]

ปลูกในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใช้ประโยชน์จากหัวที่เป็นพืชแป้งขนาดใหญ่ ใช้ทำแป้งและวุ้นก้อนในชื่อ คนเนียกุ (อาหารญี่ปุ่น), โหมยฺวี่โต้วฟู (いも豆腐とうふ) ในอาหารจีนเสฉวน นอกจากนี้ยังใช้แทนเจลาตินในอาหารมังสวิรัติ ในประเทศไทยใช้บุกคางคกและบุกเนื้อทราย

ประโยชน์ด้านสุขภาพ

[แก้]

หัวบุกคอนยัคแห้ง มีสารสำคัญคือ สารเหนียวกลูโคแมนแนนประมาณร้อยละ 40 สารพอลิแซ็กคาไรด์นี้ทำให้บุกก้อนมีความหนืดสูงที่ละลายน้ำได้ และอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายอย่าง เช่น ในยาจีนโบราณสำหรับการล้างพิษ, การควบคุมเนื้องอก, การบรรเทาอาการเลือดชะงักงัน, การจัดการโรคหอบหืด, การรักษาโรคผิวหนัง และการทำให้เสมหะเหลว[14] ใยอาหารจากหัวบุกใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารเสริมลดน้ำหนัก[15]

พิษ

[แก้]

โดยทั่วไปยางที่พบในหัวบุกสด ลำต้นและใบ (ในบุกหลายชนิดเช่น บุกคอนยัค (A. konjac), บุกคนโท (A. muelleri), A. oncophyllus, บุกคางคก (A. paeoniifolius)) ประกอบด้วยสารแคลเซียมออกซาเลต (calcium oxalate) หากสัมผัสกับผิวหนังจะทำให้เกิดอาการคัน[16] หากเข้าตาจะทำให้เกิดการระคายเคือง มีอาการแสบตาอย่างรุนแรงและอาจทำให้ตาบอดได้[17]

หัวบุกออกรสเผ็ด เป็นยาร้อน มีพิษออกฤทธิ์ต่อม้าม ตับ และระบบทางเดินอาหาร ในกลุ่มคนที่ม้าม ตับ และระบบทางเดินอาหารไม่ดี ควรหลีกเลี่ยงและหรือไม่กินมากเกินไป[18][19]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Amorphophallus Blume ex Decne". Plants of the World Online. Royal Botanic Gardens, Kew. 2022. สืบค้นเมื่อ 6 December 2022.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 การใช้ประโยชน์จากฐานชีวภาพของพืชสกุลบุกในพื้นที่ทองผาภูมิ. กลุ่มวิจัยพฤกษศาสตร์และพิพิธภัณฑ์, สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2565.
  3. "Kew World Checklist of Selected Plant Families". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-27. สืบค้นเมื่อ 2022-02-03.
  4. Sedayu, A., C. M. Eurlings, Gravendeel, B., & Hetterscheid, W. (2010). Morphological character evolution of Amorphophallus (Araceae) based on a combined phylogenetic analysis of trnL, rbcL and LEAFY second intron sequences. Botanical Studies, 51, 473–490.
  5. "Robert L. Freedman, The famine foods database". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-12-21. สืบค้นเมื่อ 2009-11-06.
  6. "Titan arum". Eden Project (ภาษาอังกฤษ). 2018-02-04. สืบค้นเมื่อ 2020-12-30.
  7. 7.0 7.1 Hetterscheid, W., & Ittenbach, S. (1990). Everything you always wanted to know about Amorphophallus but were afraid to stick your nose into! Aroideana, 19, 17-20.
  8. Yuzammi, Yuzammi (October 2020). "A new species of Amorphophallus (Araceae—Thomsoniaea) from Sulawesi, Indonesia" (461): 295–300. doi:10.11646/phytotaxa.461.4.6. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 Wasan Yodsanit (2011-12-11). "พันธ์บุกในประเทศไทย". {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  10. "Thousands line up to see huge stinky flower" (video). Reuters Editors' Picks. Reuters. 30 September 2015. สืบค้นเมื่อ 30 September 2015. Chicago's floral celebrity is over four feet tall, incredibly rare, and smells like death
  11. Design, UBC Web. "Bulbs, White, House, Nursery". Amorphophallus Conjak | White House Nursery (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2021-12-08.
  12. "บุก" แต่ไม่รุกป่า. สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง, 11 พฤษภาคม 2564.
  13. อรพรรณ ศังขจันทรานนท์. ความหลากชนิดของพืชสกุลบุก (Amorphophallus Blume ex Decne.) ในประเทศไทย. คณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
  14. Chua, M; Baldwin, TC; Hocking, TJ; Chan, K (24 March 2010). "Traditional uses and potential health benefits of Amorphophallus konjac K. Koch ex N.E.Br". Journal of Ethnopharmacology. 128 (2): 268–78. doi:10.1016/j.jep.2010.01.021. PMID 20079822.
  15. "Amorphophallus Konjac & Weight Loss". Calorie-Count.US. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-21. สืบค้นเมื่อ 2013-07-09.
  16. Pillay, Roshni; Chemban, Faiz Mukthar; Pillay, Vijay V; Rathish, Balram. "Little Known Dangers of an Exotic Poisonous Fruit: Lessons From Two Cases of Konjac Ingestion". Cureus. 12 (12): e11972. doi:10.7759/cureus.11972. ISSN 2168-8184. PMC 7790319. PMID 33425544.
  17. บุก และหัวบุก Puechkaset, 3 พฤศจิกายน 2015.
  18. บุก สมุนไพร สรรพคุณลดความอ้วน ช่วยควบคุมน้ำหนัก BeeZab.com, สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2565.
  19. "Amorphophallus konjac Devil's Tongue, Devil's Tongue, Snake Plant, Konjac, Konnyaku Potato, Voodoo Lily PFAF Plant Database". pfaf.org.