(Translated by https://www.hiragana.jp/)
ระบบการลงคะแนน - วิกิพีเดีย ข้ามไปเนื้อหา

ระบบการลงคะแนน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนที่แสดงระบบการลงคะแนนสำหรับสภาล่างในประเทศต่าง ๆ (ข้อมูลเมื่อ มกราคม 2022)
ระบบเสียงข้างมาก (ผู้ชนะเขตหนึ่งคน)
  ระบบสองรอบ (two-round system)
ระบบเสียงข้างมาก (ผู้ชนะเขตหลายคน)
ระบบกึ่งสัดส่วน
  แบบสะสม (limited voting หรือ cumulative voting)
  แบบทวินาม (binomial system)
ระบบสัดส่วน
ระบบผสม
    แบบสัดส่วนผสม (mixed-member propotional representation)
        ระบบเสียงข้างมากผสม (mixed-member majoritarian representation)
  ระบบเสียงข้างมากแบบเพิ่มที่นั่ง (majority bonus system)
อื่น ๆ
  ไม่มีการเลือกตั้ง
  แตกต่างกันไปตามรัฐ
  ไม่ปรากฏข้อมูล

ระบบการลงคะแนน (อังกฤษ: voting system) หรือ ระบบการเลือกตั้ง (electoral system) คือ กฎเกณฑ์ที่ระบุถึงการลงคะแนนเสียงเพื่อทำการเลือกตั้งหรือลงประชามติ รวมทั้งวิธีการหาผลลัพธ์เพื่อหาผู้ชนะ ระบบการเลือกตั้งนั้นอยู่ในกำกับของรัฐบาล ในขณะที่การลงคะแนนที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองนั้นสามารถใช้ในธุรกิจองค์กรต่าง ๆ รวมถึงองค์การไม่แสวงหาผลกำไรด้วย

กฎเกณฑ์เหล่านี้รวมถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับระบบการลงคะแนนโดยองค์รวมตั้งแต่การเลือกตั้ง ว่าผู้ใดสามารถมีสิทธิ์ลงคะแนน ผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง วิธีการลงคะแนนเสียง วิธีการนับคะแนนเสียง วิธีการคำนวณเพื่อหาผู้ชนะการเลือกตั้ง การควบคุมและจำกัดงบประมาณที่เกี่ยวกับการหาเสียง และปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจจะมีผลต่อการเลือกตั้งได้ ระบบการเลือกตั้งทางการเมืองนั้นได้รับการระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายการเลือกตั้ง โดยปกติจะอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสามารถใช้ระบบการเลือกตั้งหลายระบบให้เหมาะสมกับการเลือกตั้งในแต่ละประเภท

ในบางระบบการเลือกตั้งนั้นใช้การเลือกบุคคลเพียงคนเดียวเพื่อดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น นายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี หรือผู้ว่าราชการ ในขณะที่การเลือกตั้งแบบอื่น ๆ ใช้ในการเลือกตั้งผู้สมัครจำนวนหลายคนในคราวเดียว เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือคณะผู้บริหารบริษัท ระบบการเลือกตั้งแบ่งเป็นหลายระบบมากมาย โดยระบบที่พบทั่วไปได้แก่ ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด (first-past-the-post) ระบบสองรอบ (two-round system) ระบบสัดส่วน (proportional representation system) และแบบจัดลำดับ (ranked voting) นอกจากนี้ยังมีระบบผสม (mixed System) ที่ใช้ข้อดีของทั้งระบบคะแนนเสียงข้างมากและระบบสัดส่วนเข้าด้วยกัน

ระบบการเลือกตั้งแบบต่าง ๆ

[แก้]

ระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่า

[แก้]
ประเทศที่ใช้ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ

ในระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่า (plurality voting) นั้นผู้สมัคร (หนึ่งคนหรือมากกว่า) ที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดได้รับเลือกตั้ง โดยไม่มีข้อจำกัดเพิ่มเติมว่าจะต้องได้คะแนนเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่ง ในกรณีที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียวจะเรียกว่า ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดหรือระบบเสียงข้างมาก โดยระบบนี้ใช้มากที่สุดเป็นอันดับที่สองในโลก โดยมีกว่า 58 ประเทศใช้ระบบนี้ในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ[1] โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศหรือดินแดนอาณานิคมอังกฤษหรือสหรัฐในอดีตและปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นระบบที่ใช้เลือกตั้งประธานาธิบดีมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลกใน 19 ประเทศอีกด้วย[1]

ในกรณีที่ในหนึ่งเขตเลือกตั้งมีมากกว่าหนึ่งที่นั่ง (หนึ่งเขตหลายเบอร์) ระบบนี้จะเรียกว่า ระบบแบ่งเขตหลายเบอร์ (plurality-at-large voting หรือ block voting) ซึ่งพบในสองแบบหลัก ๆ แบบแรกคือผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเลือกผู้สมัครรายใดก็ได้ (โดยไม่จำเป็นต้องตามพรรคการเมือง) โดยสามารถลงคะแนนเท่ากับจำนวนที่นั่งในแต่ละเขตเลือกตั้ง โดยระบบนี้ใช้ใน 8 ประเทศ โดยยังแบ่งเป็นแบบย่อย ๆ เช่น ระบบจำกัดคะแนนเสียง (limited voting) ซึ่งจำกัดคะแนนเสียงน้อยกว่าจำนวนที่นั่งในแต่ละเขต (พบเฉพาะในยิบรอลตาร์)[1] และระบบเสียงเดียวถ่ายโอนคะแนนไม่ได้ (single non-transferable vote) ซึ่งผู้ลงคะแนนสามารถลงคะแนนได้เพียงคะแนนเดียวในเขตเลือกตั้งที่มีหลายที่นั่ง โดยผู้สมัครรายที่ได้คะแนนเสียงสูงสุด (หนึ่งคนหรือมากกว่า) จะได้รับเลือกตั้ง ซึ่งใช้ในประเทศอัฟกานิสถาน คูเวต หมู่เกาะพิตแคร์น และวานูอาตู[1] แบบที่สองของระบบแบ่งเขตหลายเบอร์ คือ ระบบแบ่งเขตยกพรรค (general ticket หรือ party block voting) ซึ่งผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใช้สิทธิ์ลงคะแนนผู้สมัครหลายคนในพรรคเดียวกันได้เท่านั้น โดยใช้ใน 5 ประเทศโดยเป็นส่วนหนึ่งของระบบผสม[1]

ระบบเสียงข้างมาก

[แก้]

ในการลงคะแนนระบบเสียงข้างมาก (majoritarian voting) คือผู้สมัครจะต้องได้คะแนนเสียงข้างมากเท่านั้นจึงจะได้รับเลือกตั้ง แต่ในระบบเลือกตั้งบางระบบนั้นนิยมใช้เพียงระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่าในรอบสุดท้ายในการนับคะแนนเสียงเพื่อหาผู้ชนะในกรณีที่ไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด ในระบบคะแนนเสียงข้างมากแบ่งเป็นสองแบบย่อย แบบหนึ่งใช้การลงคะแนนเสียงเพียงหนึ่งรอบโดยเรียงลำดับคะแนน และอีกแบบหนึ่งใช้การลงคะแนนเสียงถึงสองรอบหรือมากกว่า แต่ทั้งสองแบบนี้ใช้สำหรับเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครเพียงรายเดียวเท่านั้น

การใช้ระบบเสียงข้างมากนี้สามารถทำได้ในรอบเดียวโดยใช้การลงคะแนนแบบหลายรอบในทันที (instant-runoff voting, IRV) ซึ่งผู้ลงคะแนนลงคะแนนตามลำดับความชอบ ซึ่งใช้ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาของออสเตรเลียและปาปัวนิวกินี หากไม่มีผู้สมัครรายใดได้รับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาดในรอบแรกนั้น ในรอบที่สองคะแนนเสียงของลำดับอื่น ๆ ในผู้สมัครที่ได้คะแนนน้อยที่สุดจะนำมารวมเข้ากันกับผู้สมัครที่ได้เลือกในลำดับอื่น ๆ ไว้ โดยทำขั้นตอนนี้ซ้ำจนได้ผู้สมัครที่มีคะแนนมากกว่าร้อยละ 50 ของคะแนนเสียงทั้งหมด ในกรณีที่คะแนนลำดับอื่น ๆ ถูกใช้หมดแล้ว การนับยังสามารถทำต่อได้จนถึงผู้สมัครเพียงสองคน โดยในรอบสุดท้ายนี้จะใช้คะแนนเสียงที่เหนือกว่าเพื่อเป็นการตัดสินผู้ชนะ

อีกระบบที่คล้ายคลึงกันเรียกว่า contingent vote ซึ่งผู้ลงคะแนนไม่ต้องใส่ลำดับความชอบในทุกผู้สมัคร แต่ใส่ได้เพียงจำนวนจำกัดเท่านั้น หากไม่มีผู้สมัครรายใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด (มากกว่าร้อยละ 50) ผู้สมัครรายอื่น ๆ จะถูกตัดออก ยกเว้นผู้สมัครสองรายที่มีคะแนนเสียงมากที่สุด และจากนั้นจึงนำเอาคะแนนเสียงในส่วนของผู้สมัครรายที่ถูกตัดออกในรอบที่สองนี้นำเข้ามาแบ่งให้ตามลำดับความชอบที่ผู้ลงคะแนนเลือกไว้แต่แรก โดยผู้ชนะจะได้รับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาดโดยปริยาย ประเทศศรีลังกาใช้ระบบนี้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งผู้ลงคะแนนสามารถใส่ลำดับความชอบได้ถึงสามลำดับ[2]

อีกระบบหนึ่งที่เป็นแบบหลักของระบบเสียงข้างมาก ได้แก่ ระบบสองรอบ (two-round system) ซึ่งเป็นระบบปกติที่ใช้มากที่สุดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในประเทศต่าง ๆ ถึง 88 ประเทศ และยังใช้กับการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติถึง 20 ประเทศ[1] ในระบบนี้หากไม่มีผู้สมัครรายใดได้คะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาดในรอบแรก ในรอบที่สองจะเป็นรอบชี้ขาดผู้ชนะ ในกรณีส่วนใหญ่แล้วในรอบที่สองจะเหลือเพียงแค่ผู้สมัครเพียงสองรายจากรอบแรกเท่านั้น แต่ในบางประเทศสามารถมีได้มากกว่าสองรายในรอบที่สองซึ่งในกรณีนี้จะใช้การนับคะแนนเสียงแบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่าแทน ในบางประเทศใช้ระบบที่แปลงมาจากระบบสองรอบ เช่น เอกวาดอร์ ซึ่งผู้สมัครในการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะเป็นผู้ชนะหากได้รับคะแนนเสียงถึงร้อยละ 40 และจะต้องได้คะแนนมากกว่าอย่างน้อยร้อยละ 10 จากผู้สมัครที่ได้คะแนนลำดับถัดไป[3] หรืออาร์เจนตินา (ใช้ร้อยละ 45 และต้องมีอย่างน้อยร้อยละ 10 มากกว่าลำดับที่สอง) ที่เรียกระบบนี้ว่า ระบบบัตรลงคะแนน

ในระบบบัตรลงคะแนนหลายรอบ (exhaustive ballot) ไม่ได้จำกัดการลงคะแนนเพียงแค่สอบรอบ แต่ใช้การตัดผู้สมัครในแต่ละรอบที่ได้คะแนนน้อยสุดออกไปรอบละคน ซึ่งในระบบนี้อาจทำให้มีจำนวนรอบลงคะแนนหลายรอบจึงไม่เหมาะกับการเลือกตั้งใหญ่ ๆ แต่นิยมใช้กันในการเลือกตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรในหลายประเทศ รวมทั้งคณะมนตรีสมาพันธรัฐสวิส ในบางรูปแบบนั้นอาจจะใช้ระบบหลายรอบโดยไม่มีผู้ได้ถูกตัดออกจนกระทั่งมีผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมาก เช่น ระบบที่ใช้เลือกตั้งคณะผู้เลือกตั้งสหรัฐ

ระบบสัดส่วน

[แก้]
ประเทศที่ใช้การเลือกตั้งระบบสัดส่วน

การเลือกตั้งระบบสัดส่วนเป็นระบบการลงคะแนนที่ใช้มากในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ โดยมีมากกว่าแปดสิบประเทศในโลกที่ใช้ระบบนี้ในการลงคะแนน

การเลือกตั้งระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อ (party-list proportional representation) เป็นระบบการเลือกตั้งแบบเดียวที่ใช้กันกว่าแปดสิบประเทศทั่วโลก ซึ่งผู้ลงคะแนนทำการลงคะแนนให้กับรายชื่อผู้สมัครทั้งรายชื่อที่จัดทำโดยพรรคการเมือง ในแบบบัญชีปิดนั้นผู้ลงคะแนนจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวผู้สมัครที่พรรคการเมืองได้จัดลำดับไว้ได้ ส่วนในแบบบัญชีเปิดผู้ลงคะแนนสามารถลงคะแนนให้เป็นรายบุคคลในบัญชีรายชื่อเพื่อเลือกลำดับในบัญชีรายชื่อได้

ในบางประเทศ เช่น อิสราเอลหรือเนเธอร์แลนด์ การเลือกตั้งทำในระบบสัดส่วนอย่าง "บริสุทธิ์" กล่าวคือ นำคะแนนเสียงในระดับประเทศมารวมกันจึงทำการแบ่งที่นั่งให้กับแต่ละพรรคการเมือง อย่างไรก็ตามในกรณีส่วนใหญ่ นิยมใช้เขตเลือกตั้งที่มีผู้แทนมากกว่าหนึ่งคน มากกว่าเขตเลือกตั้งเดียวรวมทั้งประเทศ ทำให้มีการแบ่งสัดส่วนตามภูมิศาสตร์ซึ่งอาจจะส่งผลให้การแบ่งสัดส่วนที่นั่งไม่สอดคล้องกับจำนวนผลรวมคะแนนในประเทศได้ ดังนั้นในบางประเทศจึงมีการเกลี่ยที่นั่งให้กับพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงน้อยกว่าสัดส่วนคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ

ในด้านของเกณฑ์คะแนนเสียงขั้นต่ำ (คะแนนเสียงขั้นต่ำคิดเป็นร้อยละของคะแนนเสียงทั้งหมดที่พรรคการเมืองจะต้องได้รับเพื่อที่จะได้ที่นั่ง) มีการใช้หลายวิธีในการแบ่งที่นั่งในระบบสัดส่วน โดยแบ่งเป็นสองวิธีหลัก คือ วิธีค่าเฉลี่ยสูงสุด และวิธีเหลือเศษสูงสุด วิธีค่าเฉลี่ยสูงสุด (highest averages method) รวมถึงการแบ่งจำนวนคะแนนเสียงในแต่ละพรรคการเมืองแล้วหารด้วยตัวหารต่าง ๆ เพื่อนำมาซึ่งจำนวนที่นั่งของพรรคการเมือง เช่น วิธีโดนต์ (D'Hondt method; ซึ่งมีระบบใกล้เคียง เช่น ระบบฮาเกินบัค-บิชช็อฟ) และวิธีเว็บสเตอร์/แซ็งต์-ลากูว์ (Webster/Sainte-Laguë method) ส่วนวิธีเหลือเศษมากสุด (largest remainder method) คะแนนเสียงของพรรคการเมืองจะถูกหารด้วยจำนวนโควตา (ซึ่งมาจากการหารจำนวนคะแนนเสียงทั้งหมดด้วยจำนวนที่นั่งที่มี) โดยในแบบนี้มักจะเหลือเศษที่นั่งที่ไม่ลงตัว ซึ่งจะเกลี่ยให้กับพรรคการเมืองตามจำนวนที่นั่งที่ยังไม่ครบของแต่ละพรรค ตัวอย่างของระบบนี้ได้แก่ โควตาแฮร์, โควตาดรูป, โควตาอิมเปรีอาลี และโควตาฮาเกินบัค-บิชช็อฟ

การเลือกตั้งแบบถ่ายโอนคะแนนเสียง (STV) เป็นการเลือกตั้งระบบสัดส่วนอีกแบบหนึ่ง ซึ่งผู้ลงคะแนนลงคะแนนให้กับผู้สมัครหลายคนตามลำดับในเขตเลือกตั้งที่มีผู้แทนมากกว่าหนึ่งคน (ไม่ใช่ลงคะแนนให้บัญชีรายชื่อ) ใช้ในมอลตาและไอร์แลนด์ เพื่อที่จะได้รับเลือกนั้นผู้สมัครจะต้องได้คะแนนเกินจำนวนโควตา (ใช้โควตาดรูปเป็นส่วนใหญ่) ผู้สมัครที่ได้คะแนนเกินโควตาในรอบแรกจะได้รับเลือกก่อน คะแนนเสียงของผู้สมัครที่ได้คะแนนน้อยที่สุด และคะแนนส่วนเกินของผู้สมัครที่ชนะในรอบแรกจะถูกโอนไปยังผู้สมัครที่ได้คะแนนในอันดับถัดไป ทำซ้ำขั้นตอนนี้จนได้ผู้สมัครจนครบทุกที่นั่ง (แต่ละที่นั่งจะต้องผ่านคะแนนโควตา)[1]

ระบบผสม

[แก้]

ในหลายประเทศนั้นนิยมใช้ระบบผสมในการลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ ซึ่งรวมถึงการลงคะแนนแบบคู่ขนาน และแบบสัดส่วนผสม

ในแบบคู่ขนานซึ่งใช้กันใน 20 ประเทศทั่วโลก[1] นั้นใช้สองวิธีเพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ ส่วนหนึ่งมาจากการลงคะแนนแบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่าหรือเสียงข้างมากจากเขตเลือกตั้งที่มีผู้แทนคนเดียวหลายเขตรวมกัน (แบบแบ่งเขต) และส่วนสมาชิกจำนวนที่เหลือนั้นมาจากระบบสัดส่วน โดยผลลัพธ์ของจำนวนคะแนนเสียงที่ได้รับจากระบบแบ่งเขตนั้นไม่มีผลจำนวนของสมาชิกที่มาจากระบบสัดส่วน[4]

ในแบบสัดส่วนผสมซึ่งใช้ใน 8 ประเทศ ใช้การเลือกตั้งสภานิติบัญญัติมาจากสองส่วน คือ จากการลงคะแนนในเขตเลือกตั้ง (แบบแบ่งเขต) และจากระบบสัดส่วน แต่ในกรณีนี้ผลลัพธ์ของจำนวนที่นั่งที่มาจากระบบสัดส่วนนั้นจะปรับตามจำนวนที่นั่งของผู้แทนที่ได้จากแบบแบ่งเขตเพื่อที่จะให้จำนวนที่นั่งทั้งหมดของพรรคการเมืองเป็นสัดส่วนของจำนวนคะแนนเสียงทั้งหมดที่พรรคได้รับ[1] โดยวิธีนี้อาจทำให้เกิดปัญหา ที่นั่งเกิน (overhang seats) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อพรรคการเมืองชนะที่นั่งในแบบแบ่งเขตมากกว่าจำนวนสมาชิกที่พึงมีจากการนับคะแนนเสียงรวม

การเลือกตั้งผู้สมัครรอบแรก

[แก้]

การเลือกตั้งผู้สมัครรอบแรก (primary elections) หรือ การเลือกตั้งแบบไพรแมรี เป็นลักษณะเฉพาะของระบบการลงคะแนนที่ใช้เพิ่มเติมโดยอาจจะใช้เป็นทางการในระบบการลงคะแนนนั้น ๆ หรืออาจนำมาใช้โดยพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเพื่อใช้ในการคัดเลือกตัวผู้สมัคร ตัวอย่างเช่น ประเทศอิตาลี การเลือกตั้งผู้สมัครรอบแรกช่วยจำกัดความเสี่ยงของการเสียงแตกโดยจะสามารถคัดผู้สมัครเพียงคนเดียวเท่านั้น ในอาร์เจนตินาใช้ระบบนี้เป็นมาตรฐานในระบบการลงคะแนน โดยจะใช้การเลือกตั้งผู้สมัครรอบแรกก่อนเป็นเวลาสองเดือนก่อนการเลือกตั้งทั่วไป โดยพรรคการเมืองใดที่ได้รับคะแนนน้อยกว่าร้อยละ 1.5 จะไม่มีสิทธิ์ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งทั่วไปได้ ในสหรัฐ ใช้การเลือกตั้งผู้สมัครรอบแรกในการเลือกตั้งทั้งผู้ที่สังกัดพรรค และในนามอิสระ

การเลือกตั้งทางอ้อม

[แก้]

ในการเลือกตั้งบางประเภทมีลักษณะเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ซึ่งบางกรณีไม่มีการลงคะแนนเสียงเลย หรือจำกัดการลงคะแนนในขั้นตอนสุดท้ายของการเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งโดยปกติในขั้นตอนสุดท้ายจะทำโดยคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college) ในหลายประเทศ เช่น มอริเชียสหรือตรินิแดดและโตเบโก ตำแหน่งประธานาธิบดีนั้นถูกเลือกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ในอินเดีย การลงคะแนนทำโดยคณะผู้เลือกตั้งซึ่งประกอบด้วยฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศ และฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐ ในสหรัฐ ประธานาธิบดีนั้นมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดยขั้นตอนสองระดับ คือมีการลงคะแนนในระดับมลรัฐเพื่อเลือกสมาชิกคณะผู้เลือกตั้งซึ่งต่อไปจะเป็นผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดสถานการณ์ที่ผู้สมัครได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในระดับประเทศไม่ชนะการลงคะแนนในระดับคณะผู้เลือกตั้ง เช่น การเลือกตั้งสหรัฐใน ค.ศ. 2000 และ ค.ศ. 2016

กฎเกณฑ์

[แก้]

นอกเหนือจากแบบการลงคะแนนดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว ระบบการลงคะแนนยังมีกฎเกณฑ์ที่หลากหลายและเปิดกว้าง ซึ่งโดยปกติจะถูกกำกับไว้ในรัฐธรรมนูญปกครองประเทศนั้น ๆ หรือกฎหมายเลือกตั้ง โดยข้อบังคับเหล่านี้รวมถึง คุณสมบัติของผู้สมัคร การคัดเลือกผู้สมัคร การลงทะเบียนผู้ใช้สิทธิ์ลงคะแนน สถานที่ลงคะแนน ระบบลงคะแนนแบบออนไลน์ การลงคะแนนทางไปรษณีย์ และการลงคะแนนล่วงหน้า

กฎเกณฑ์อื่น ๆ รวมถึงการเลือกใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับลงคะแนน เช่น บัตรลงคะแนน เครื่องลงคะแนน หรือระบบลงคะแนนแบบเปิด รวมทั้งวิธีการนับคะแนน การรับรองคะแนน และวิธีการที่ใช้ตรวจสอบ เป็นต้น

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ก่อนประชาธิปไตย

[แก้]

ประชาธิปไตยช่วงต้น

[แก้]

การพัฒนาระบบการลงคะแนนใหม่

[แก้]

การเปรียบเทียบระบบการลงคะแนน

[แก้]

ระบบลงคะแนนในหลายแบบสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้หลายวิธี โดยความคิดเห็นของข้อดีด้อยในแต่ละระบบนั้นย่อมได้รับอิทธิพลมาจากผลกระทบโดยตรงจากกลุ่มผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้านแนวคิดในแต่ละระบบซึ่งทำให้การเปรียบเทียบตามวัตถุประสงค์ (objective) นั้นเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตามสามารถมีวิธีแก้ปัญหาด้านการเปรียบเทียบดังนี้:

วิธีหนึ่งคือการนิยามเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ให้ชัดเจนซึ่งจะสามารถตัดสินได้ว่าระบบการลงคะแนนใดผ่านหรือไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งจะทำให้ได้ผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์แต่การนำมาใช้จริงนั้นยังอาจจะไม่สามารถชี้ชัดได้

อีกหนึ่งวิธีคือการนิยามเกณฑ์ที่เหมาะสมโดยสมมติว่าไม่มีระบบการลงคะแนนใดที่จะผ่านเกณฑ์ได้สมบูรณ์ และจากนั้นให้ทดลองจัดการเลือกตั้งโดยกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่โดยมีหลายโจทย์เพื่อดูผลลัพธ์ ซึ่งกรณีนี้จะเห็นได้ว่าแบบใดนั้นผ่านเกณฑ์ในทางปฏิบัติ แต่วิธีในการออกโจทย์สำหรับการเลือกตั้งทดลองสามารถถูกชี้นำได้

วิธีสุดท้ายคือการนิยามเกณฑ์ขึ้นมา และให้คณะกรรมการที่เป็นกลางนั้นประเมินผลของแต่ละวิธีอิงตามเกณฑ์ที่ตั้งขึ้น โดยวิธีนี้สามารถมองเห็นถึงมิติต่างๆ ของระบบเลือกตั้งซึ่งอีกสองวิธีแรกนั้นมองข้ามไป แต่การจำกัดความนิยามเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้รวมถึงการประเมินผลนั้นก็ยังเป็นความเห็นส่วนตัวเชิงมุมมอง (subjective)

ตามผลการสำรวจผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการลงคะแนนเมื่อปี ค.ศ. 2006 ระบบเลือกตั้งที่ได้รับการลงคะแนนเรียงตามความชอบจากมากไปน้อยได้ดังนี้:[5]

  1. ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม
  2. ระบบถ่ายโอนคะแนนเสียง
  3. ระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อเปิด
  4. ระบบคะแนนเสียงเผื่อเลือก
  5. ระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อปิด
  6. ระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่า
  7. ระบบสองรอบ
  8. ระบบคู่ขนาน
  9. ระบบเสียงเดียวโอนไม่ได้

ดูเพิ่ม

[แก้]


อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 1.8 Table of Electoral Systems Worldwide เก็บถาวร 2017-05-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน IDEA
  2. Sri Lanka: Election for President IFES
  3. Ecuador: Election for President เก็บถาวร 2016-12-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน IFES
  4. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ IDG
  5. Bowler, Shaun; Farrell, David M.; Pettit, Robin T. (2005-04-01). "Expert opinion on electoral systems: So which electoral system is "best"?". Journal of Elections, Public Opinion and Parties. 15 (1): 3–19. doi:10.1080/13689880500064544. ISSN 1745-7289.