รัฐบาลชั่วคราวรัสเซีย
รัฐบาลชั่วคราวรัสเซีย Временное правительство России (รัสเซีย) | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ค.ศ. 1917 | |||||||||
เพลงชาติ: Рабочая Марсельеза ราโบชายา มาร์เซลเยซา "มาร์แซแยซของกรรมกร"Гимн Свободной России กริมน์ สโวบอดนอย รอสซี "เพลงสรรเสริญรัสเซียเสรี" (ไม่ทางการ) | |||||||||
สีเขียวเข้ม: ดินแดนรัสเซียใน ค.ศ. 1917 สีเขียวอ่อน: พื้นที่อิทธิพลของจักรวรรดิรัสเซีย | |||||||||
เมืองหลวง | เปโตรกราด | ||||||||
ภาษาทั่วไป | รัสเซีย | ||||||||
การปกครอง | รัฐบาลชั่วคราว | ||||||||
ประธานรัฐมนตรี | |||||||||
• มีนาคม-กรกฎาคม ค.ศ. 1917 | เกออร์กี ลวอฟ | ||||||||
• กรกฎาคม-กันยายน ค.ศ. 1917 | อะเลคซันดร์ เคเรนสกี | ||||||||
สภานิติบัญญัติ | สภาชั่วคราว | ||||||||
ยุคประวัติศาสตร์ | สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง | ||||||||
8–16 มีนาคม 1917 | |||||||||
10–13 กันยายน 1917 | |||||||||
• จัดตั้งสาธารณรัฐ | 14 กันยายน 1917 | ||||||||
สกุลเงิน | รูเบิล | ||||||||
|
รัฐบาลชั่วคราวรัสเซีย (รัสเซีย: Временное правительство России, อักษรโรมัน: Vremennoye pravitel'stvo Rossii) เป็นรัฐบาลชั่วคราวที่จัดตั้งขึ้นในเปโตรกราดภายหลังการสละราชสมบัติของจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ในช่วงการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 ภายในรัฐบาลประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีที่ต่อเนื่องกันหลายชุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแนวร่วมระหว่างนักการเมืองเสรีนิยมและนักสังคมนิยมสายกลาง โดยพยายามแก้ไขปัญหาร้ายแรงที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอันไม่เป็นที่นิยม รัฐบาลชั่วคราวดำรงอยู่เป็นเวลาแปดเดือน จนกระทั่งการยึดอำนาจของบอลเชวิคในเดือนพฤศจิกายน (เดือนตุลาคมตามปฏิทินเก่า) ซึ่งเป็นกลุ่มฝ่ายซ้ายหัวรุนแรงของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียในการปฏิวัติเดือนตุลาคม
แต่เดิมสมาชิกภายในคณะรัฐมนตรีชุดแรกมีเพียงนักการเมืองสายเสรีนิยมเท่านั้น ยกเว้นอะเลคซันดร์ เคเรนสกี จากพรรคปฏิวัติสังคมนิยม ที่เข้าร่วมรัฐบาลเพราะความสามารถส่วนตัว คณะรัฐมนตรียังคงเป็นเช่นนี้กระทั่งเกิดวิกฤตการณ์เดือนเมษายนในอีกสองเดือนต่อมา ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างนักสังคมนิยมและสมาชิกสายอนุรักษนิยม ทำให้หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีจึงประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นทั้งนักการเมืองเสรีนิยมและนักสังคมนิยมสายกลาง เจ้าชายลวอฟยังคงดำรงตำแหน่งประธานรัฐมนตรีของรัฐบาลชั่วคราวต่อไป จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งต่าง ๆ ทั้งความล้มเหลวของการรุกเคเรนสกี วิกฤตการณ์รัฐบาลที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์รัฐธรรมนูญ (KD หรือ kadets) ความตึงเครียดระหว่างกลุ่มชาตินิยมในยูเครน และการจราจลเดือนกรกฎาคม ทำให้เคเรนสกีได้รับสืบทอดตำแหน่งประธานรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลชั่วคราว คณะรัฐบาลเคเรนสกีดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองอย่างท่วมท้น แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้แก้ปัญหาสำคัญหลายอย่าง เช่น การถอนตัวออกจากสงคราม การปฏิรูปเกษตรกรรม การแก้ปัญหาของกลุ่มคนงานทั้งในเมืองต่าง ๆ และปัญหาชนกลุ่มน้อย เป็นต้น
ข้อตกลงใหม่ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์รัฐธรรมนูญและรัฐบาลได้เกิดขึ้นหลังจากการเจรจาหลายครั้ง นำไปสู่การยุติวิกฤตการณ์รัฐบาลในช่วงฤดูร้อน อย่างไรก็ตามความขัดแย้งระหว่างทั้งสองยังคงอยู่และการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจไม่มีความคืบหน้า อีกทั้งยังไม่มีการดำเนินการถอนตัวออกจากสงคราม ส่งผลให้สถานการณ์ในรัสเซียทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ในขณะที่ฝ่ายขวามองหาบุคคลที่มีอำนาจเพื่อกำหนดสั่งการ ยุติวิกฤตการณ์ และกลับมาทำสงครามอีกครั้งด้วยความเข้มแข็ง ฝ่ายซ้ายได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจและสังคมให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น จากการขาดการดำเนินการของรัฐบาล และความล้มเหลวของการรัฐประหารโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพบก ทำให้ฝ่ายขวาและรัฐบาลเริ่มอ่อนแอลง และได้เพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ฝ่ายซ้าย กลุ่มหัวรุนแรง และอื่น ๆ เพื่อความปรารถนาที่จะยึดอำนาจของสภาโซเวียต
ในช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง สถานการณ์ร้ายแรงและความอ่อนแอของรัฐบาลนำไปสู่การอภิปรายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลและการก่อตัวของกลุ่มสังคมนิยมหัวรุนแรง ในขณะที่สภาโซเวียตเร่งปฏิรูปเกษตรกรรมในชนบทและได้ถอนตัวเป็นอิสระจากการบริหารส่วนกลาง ในเมืองต่าง ๆ มีการสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายซ้ายเพิ่มขึ้น เมื่อบอลเชวิคตัดสินใจทำการยึดอำนาจผ่านสภาโซเวียตจากการประชุมสภาคองเกรสครั้งที่สองในการปฏิวัติเดือนตุลาคม รัฐบาลชั่วคราวจึงเป็นอันสิ้นสุดลงและบอลเชวิคได้ก่อตั้งคณะกรรมการราษฎรขึ้นมาบริหารประเทศ
การก่อตั้ง
[แก้]คณะกรรมการชั่วคราวแห่งสภาดูมาได้เชิญชวนคณะกรรมการบริหารแห่งสภาโซเวียตเปโตรกราดเข้าร่วมการอภิปรายเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1917 [ตามปฎิทินเก่า: 1 มีนาคม] และจัดการประชุมขึ้นในบ่ายของวันเดียวกัน[1][2] ในระหว่างการประชุม คณะกรรมการบริหารของโซเวียตตัดสินใจที่จะไม่เข้าร่วมรัฐบาลใหม่ (ในตอนนั้นการยึดอำนาจยังไม่ได้รับการพิจารณา)[3] การประชุมอย่างจริงใจระหว่างสมาชิกเมนเชวิค นีโคไล ชเฮอิดเซ, นีโคไล ซูฮานอฟ, และนีโคไล โซโคลอฟ และนักเสรีนิยมปาเวล มิลยูคอฟ, อะเลคซันดร์ กุชคอฟ, และเกออร์กี ลวอฟ โดยเมนเชวิคเต็มใจที่จะมอบอำนาจให้กับฝ่ายเสรีนิยมและไม่รับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีใหม่[3][1] เพื่อแลกกับการสนับสนุนจากฝ่ายสังคมนิยม[2] อีกทั้งพวกเขาได้เรียกร้องให้มีการประกาศใช้สิทธิพลเมือง[2][4][3] (เช่น การรวมกลุ่มสมาคม การจัดตั้งพรรคการเมือง และการให้เสรีภาพสื่อ เป็นต้น)[1] ต้องมีการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมืองทั้งหมด[3] ขอบเขตของสิทธิพลเมืองควรขยายไปถึงกลุ่มทหาร และให้มีการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุด[5][4][3][1] เพื่อจัดการเลือกตั้งตามแบบสากล โดยตรง เสมอภาค และเป็นความลับ และเพื่อกำหนดรัฐธรรมนูญพร้อมกับรูปแบบการปกครองของประเทศ (ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1917 [ตามปฎิทินเก่า: 3 มีนาคม] เป็นเวลาเพียงหนึ่งวันหลังการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่[6])[5][7]
สภาโซเวียตเปโตรกราดสนับสนุนรัฐบาลใหม่อย่างเปิดเผย[8] ตราบใดที่รัฐบาลยังปฏิบัติตามข้อเรียกร้องที่ตกลงไว้[4][3] เพียงแต่สภาโซเวียตยังคงปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับรัฐบาล[7] คณะกรรมการบริหารของโซเวียตปฏิเสธข้อเสนอของผู้แทนจากสภาดูมาที่จะรวมชเฮอิดเซและเคเรนสกีไว้ในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่[2] แม้ว่าเคเรนสกีจะยินยอมเข้าร่วมด้วยตนเองก็ตาม และท้ายที่สุดเขาก็ได้รับการสนับสนุนจากการประชุมครบชุดของสภาในวันถัดไป[9][4] ทางสภาโซเวียตเปโตรกราดพิจารณาว่าการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์เป็นการปฏิวัติของชนชั้นนายทุนและด้วยเหตุนี้ฝ่ายสังคมนิยมจึงไม่ควรเข้าร่วมกับรัฐบาล[9][4] ทำให้ตอนนี้คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชั่วคราวจึงประกอบด้วยฝ่ายเสรีนิยม กลุ่มอนุรักษนิยมสายกลาง และเคเรนสกีซึ่งเป็นฝ่ายสังคมนิยม[4]
เมื่อซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1917 [ตามปฎิทินเก่า: 2 มีนาคม] และพระอนุชาของพระเจ้าซาร์แกรนด์ดยุกมีฮาอิล ปฏิเสธการสืบราชบัลลังก์ในวันต่อมา รัฐบาลชั่วคราวจึงเริ่มเข้ามาปกครองรัสเซียอย่างเป็นทางการ แต่อำนาจของรัฐบาลชั่วคราวนั้นมีอยู่อย่างจำกัดเนื่องจากอำนาจที่เพิ่มขึ้นของสภาโซเวียตเปโตรกราด[10]
รัฐบาลใหม่ได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นในช่วงแรก รวมถึงบุคคลที่มีแนวคิดโดดเด่นที่สุดในบรรดาฝ่ายเสรีนิยมของรัฐบาลด้วย เช่น นายกรัฐมนตรีเกออร์กี ลวอฟ[11][8] ผู้เป็นนักการเมืองก้าวหน้าและเป็นที่เคารพนับถือของเซมสต์วอ (Zemstvo)[12] และปาเวล มิลยูคอฟ ผู้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และสมาชิกหลักของคณะรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์รัฐธรรมนูญ (KD)[11][8] อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีชุดใหม่นั้นอ่อนแอและมีอำนาจหน้าที่จำกัดในพื้นที่บางส่วนของประเทศและในเมืองหลวงเท่านั้น[13] เนื่องจากการก่อตัวของลัทธิชาตินิยมในพื้นที่ของจักรวรรดิ การแบ่งแยกภายในฝ่ายสังคมนิยม และความขัดแย้งระหว่างสังคมนิยมและเสรีนิยมได้บ่อนทำลายอำนาจของรัฐบาล[13] ในเปโตรกราดนั้นถูกควบคุมโดยสภาโซเวียตเมืองหลวง[14] ความปรารถนาของประชากรก็ไม่ได้จำกัดเพียงแค่การปฏิรูปทางการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงมาตรการทางสังคมและเศรษฐกิจด้วย นอกจากนี้ความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างฝ่ายเสรีนิยมกับฝ่ายสังคมนิยม[15] และการเข้าร่วมสงครามอันไม่เป็นที่นิยม ยังเป็นอุปสรรคต่อความเข้าใจกันระหว่างทั้งสองฝ่าย[16] คตินิยมของรัฐบาลชั่วคราวที่เชื่อมั่นว่ามีเพียงสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากเลือกตั้งโดยระบอบประชาธิปไตยแบบสากลเท่านั้นที่จะสามารถตัดสินประเด็นพื้นฐานทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจได้[17] แต่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ภายในรัฐบาล ทำให้การปฏิรูปครั้งสำคัญถูกเลื่อนออกไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน[18]
รายนามประธานรัฐมนตรี
[แก้]- เกออร์กี ลวอฟ (ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม - 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1917)
- อะเลคซันดร์ เคเรนสกี (ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม - 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1917)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 Basil 1984, p. 29.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 Wade 1969, p. 5.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Ferro 1975, p. 90.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 Wade 2000, p. 48.
- ↑ 5.0 5.1 Kochan 1967, p. 183.
- ↑ Wade 2000, p. 53.
- ↑ 7.0 7.1 Von Loewe 1967, p. 172.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 Ferro 1975, p. 93.
- ↑ 9.0 9.1 Wade 1969, p. 6.
- ↑ Rabinowitch 1991, p. 29.
- ↑ 11.0 11.1 Wade 2000, p. 54.
- ↑ Rabinowitch 1978, p. 21.
- ↑ 13.0 13.1 Basil 1984, p. 97.
- ↑ Von Loewe 1967, p. 174.
- ↑ Mosse 1967, p. 104.
- ↑ Mosse 1967, p. 105.
- ↑ Ferro 1975, p. 220.
- ↑ Wade 2000, p. 55.
บรรณานุกรม
[แก้]- Anin, David S. (1967). "The February Revolution: Was the Collapse Inevitable?". Soviet Studies (ภาษาอังกฤษ). 18 (4): 435-457.
- Basil, John D. (1984). The Mensheviks in the Revolution of 1917 (ภาษาอังกฤษ). Slavica Publishers. ISBN 0893571091.
- Ferro, Marc (1975). La Revolución de 1917: la caída del zarismo y los orígenes de octubre. Laia. ISBN 9788472224827.
- Ferro, Marc (1961). "La politique des nationalités du gouvernement provisoire". Cahiers du monde russe et soviétique (ภาษาฝรั่งเศส). 2 (2): 131-165. doi:10.3406/cmr.1961.1462.
- Gill, Graeme J. (1978). "The Failure of Rural Policy in Russia, February-October 1917". Slavic Review (ภาษาอังกฤษ). 37 (2): 241-258.
- Kochan, Lionel (1967). "Kadet Policy in 1917 and the Constituent Assembly". The Slavonic and East European Review. 45 (104): 183-192.
- Von Loewe, Karl F. (1967). "Challenge to Ideology: The Petrograd Soviet, February 27-March 3, 1917". Russian Review. 26 (2): 164-175.
- Mosse, W. E. (1967). "The February Regime: Prerequisites of Success". Soviet Studies. 19 (1): 100-108.
- Mosse, W. E. (1964). "Interlude: The Russian Provisional Government 1917". Soviet Studies. 15 (4): 408-419.
- Pethybridge, Roger William (1972). The spread of the Russian revolution; Essays on 1917 (ภาษาอังกฤษ). St. Martin's Press. ISBN 9780333132449.
- Pethybridge, Roger William (1970). "Political Repercussions of the Supply Problem in the Russian Revolution of 1917". Russian Review. 29 (4): 379-402.
- Rabinowitch, Alexander (1978). The bolsheviks come to power. The revolution of 1917 in Petrograd (ภาษาอังกฤษ). W. W. Norton & Company. ISBN 9780393008937.
- Rabinowitch, Alexander (1991). Prelude to Revolution: The Petrograd Bolsheviks and the July 1917 Uprising (ภาษาอังกฤษ). Indiana University Press. ISBN 9780253206619.
- Rabinowitch, Alexander (2007). The bolsheviks in power. The first year of Soviet rule in Petrograd (ภาษาอังกฤษ). Indiana University Press. ISBN 9780253349439.
- Radkey, Oliver H. (1958). The Agrarian Foes of Bolshevism: Promise and Default of the Russian Socialist Revolutionaries February to October 1917 (ภาษาอังกฤษ). Columbia University Press. ISBN 9780231021708.
- Roobol, W. H. (1976). Tsereteli, a democrat in the Russian revolution : a political biography (ภาษาอังกฤษ). Martinus Nijhoff. ISBN 9789024719150.
- Uldricks, Teddy J. (1975). "Petrograd Revisited: New Views of the Russian Revolution". The History Teacher. 8 (4): 611-623.
- Rex A., Wade (1968). "Why October? The Search for Peace in 1917". Soviet Studies. 20 (1): 36-45.
- Wade, Rex A. (1969). The Russian Search for Peace, February-October 1917 (ภาษาอังกฤษ). Stanford University Press. ISBN 9780804707077.
- Wade, Rex A. (2000). The Russian Revolution, 1917 (New Approaches to European History) (ภาษาอังกฤษ). Cambridge University Press. ISBN 9780521425650.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Russian Provisional Government
- บทความเกี่ยวกับ สหภาพโซเวียต ที่ยังไม่สมบูรณ์
- บทความเกี่ยวกับ การเมืองการปกครอง ที่ยังไม่สมบูรณ์
- บทความเกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์ ที่ยังไม่สมบูรณ์
- การปฏิวัติรัสเซีย
- จักรวรรดิรัสเซียในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
- การล่มสลายของจักรวรรดิรัสเซีย
- จักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย
- ประวัติศาสตร์รัสเซีย
- พ.ศ. 2460
- รัฐบาลชั่วคราว
- บทความเกี่ยวกับ ประเทศรัสเซีย ที่ยังไม่สมบูรณ์