วิกิพีเดีย:หุ่นเชิด
หน้านี้เป็นนโยบายของวิกิพีเดียภาษาไทย เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางซึ่งปกติผู้ใช้ทุกคนควรถือปฏิบัติ การปรับแก้นโยบายควรสะท้อนความเห็นพ้อง |
สรุปหน้านี้: กฎทั่วไปมีว่า หนึ่งคน หนึ่งบัญชี อย่าใช้หลายบัญชีเพื่อชักจูงในทางที่ผิด หลอกลวง ก่อกวนหรือรังควาน; สร้างภาพลวงว่ามีผู้สนับสนุนจุดยืนหนึ่ง ๆ มากกว่าจริง; เพื่อปลุกปั่นข้อโต้เถียง; หรือเพื่อเลี่ยงการบล็อก หรือวิธีการบังคับ อย่าขอให้คนนอกสร้างบัญชีเพื่อสนับสนุนคุณ อย่ารื้อฟื้นบัญชีที่เลิกใช้แล้วและใช้เหมือนกับเป็นผู้ใช้คนอื่น หรือใช้บัญชีของบุคคลอื่น อย่าออกจากระบบแล้วใช้เลขที่อยู่ไอพีมาก่อกวน |
ปกติเราคาดหมายให้ผู้เขียนแก้โดยใช้บัญชีเดียว เพื่อเพิ่มภาระความรับผิดและเพิ่มความเชื่อมั่นของชุมชน แม้การใช้หลายบัญชีในบางกรณีสมเหตุสมผล แต่การใช้หลายบัญชีในทางมิชอบ (ที่เรียกว่า หุ่นเชิด) อันได้แก่ พยายามหลอกลวงหรือชักจูงให้ผู้เขียนอื่นเข้าใจผิด รบกวนการอภิปราย ทำลายความเห็นพ้อง หลบวิธีการบังคับ เลี่ยงการบล็อก หรือละเมิดมาตรฐานและนโยบายของชุมชน
การเชิดหุ่นมีได้หลายแบบ เช่น
- ออกจากระบบแล้วใช้ที่อยู่ไอพีลงมือแก้ไขที่มีปัญหา
- สร้างบัญชีใหม่เพื่อหลบการตรวจพบ
- ใช้บัญชีของบุคคลอื่น
- รื้อฟื้นบัญชีเก่าที่เลิกใช้แล้ว แล้วปฏิบัติเหมือนกับเป็นผู้ใช้อีกคน
การใช้หลายบัญชีในทางมิชอบเป็นการละเมิดความเชื่อมั่นของชุมชนอย่างร้ายแรง อาจนำไปสู่
- การบล็อกบัญชีที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
- การเปิดเผยบัญชีและเลขที่อยู่ไอพีทั้งหมดที่ใช้ในวิกิพีเดียและโครงการพี่น้อง
- การเปิดเผยต่อสาธารณะซึ่งกิจกรรม "โลกจริง" หรือสารสนเทศส่วนบุคคลที่พิเคราะห์แล้วว่าเกี่ยวข้องต่อการป้องกันการเชิดหุ่นในอนาคตหรือการละเมิดอื่น ๆ บางอย่าง (ที่เป็นไปได้)
ผู้เขียนคนใดที่ใช้หลายบัญชีในทางที่ชอบควรแสดงรายการบัญชีอื่นทั้งหมดในหน้าผู้ใช้ของทุกบัญชีพร้อมคำอธิบายวัตถุประสงค์ (ดูข้างล่าง) หรืออีกทางหนึ่ง ให้ผู้ใช้และหน้าคุยของผู้ใช้ของบัญชีอื่นนอกจากบัญชีหลักเป็นหน้าเปลี่ยนทาง ผู้เขียนที่ใช้บัญชีอื่นที่ไม่เชื่อมโยงกัน หรือแก้ไขเป็นเลขที่อยู่ไอพีแยกจากบัญชีของตนควรเลี่ยงการเปลี่ยนไปมาในบทความหรือหัวข้อ เพราะกิจกรรมไม่อันตรายอย่างการพิสูจน์อักษร การจัดรูปแบบวิกิหรือการลิงก์ อาจถือเป็นการเชิดหุ่นในบางกรณี และเจตนาไม่อันตรายใช้เป็นข้อแก้ตัวไม่ได้
กรณีที่ห้ามใช้หลายบัญชี
- ลงคะแนน
- ในวิกิพีเดียใช้หลักการ "หนึ่งคะแนนเสียงต่อหนึ่งคน" จึงไม่สมควรอย่างยิ่งในการสมัครชื่อใหม่และมาทำการโหวตเพื่อสนับสนุนให้ชนะผลการลงคะแนน หรือแสดงความเห็นทำให้การลงคะแนนต้องหยุดหรือเลื่อนออกไป ดังนั้นการลงคะแนนจากไอพีหรือผู้ใช้ใหม่อาจไม่ได้รับการพิจารณา
- ร่วมแก้ไขบทความ
- ไม่ควรใช้หลายชื่อบัญชีในการแก้ไขบทความเดียวกัน เพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกชื่อได้เขียนบทความในทิศทางเดียวกัน (โดยผู้เขียนคนเดิม) ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดความเป็นกลางแล้ว ยังทำให้เกิดการสับสนต่อผู้อื่นที่ร่วมแก้ไข
- ด้านสว่าง-ด้านมืด
- การใช้สองชื่อบัญชีหรือมากกว่านั้น เพื่อแยกการแก้ไขหนึ่งเป็นการแก้ไขที่ดี ส่วนอีกชื่อหนึ่งเป็นการแก้ไขที่เจตนาว่าร้ายผู้อื่น แสดงความคิดเห็นหรือใช้แก้ไขบทความที่ขัดกับนโยบาย กรณีนี้รวมไปถึงผู้ดูแลระบบ ไม่สมควรที่จะมีหลายชื่อบัญชีเพื่อต่อกรกับผู้ก่อกวน
- ก่อกวนและกลั่นแกล้ง
- การกระทำที่จัดว่าเป็นการก่อกวน ไม่เกิดประโยชน์อันใดต่อสารานุกรม ผู้เขียน และผู้อ่าน หากคุณอยากช่วยพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เรายินดีต้อนรับเสมอ
- เลี่ยงนโยบาย
- นโยบายใช้กับบุคคล ไม่ใช่ใช้กับบัญชีเดียว ตัวอย่างเช่น นโยบายสงครามแก้ไขใช้กับการแก้ไขของบุคคล ตัวอย่างเช่น ใช้บัญชีที่สองมาทำสงครามแก้ไขต่อจากบัญชีแรก ในกรณีนี้บทลงโทษใด ๆ ต่อบัญชีที่สองจะมีผลต่อบัญชีหลักด้วย
- อภิปรายโดยใช้หลายบัญชี
- ห้ามใช้หลายบัญชีเพื่อร่วมการอภิปรายเดียวกันในทางที่ทำให้คนอื่นเข้าใจว่ามีหลายคน
- เลี่ยงการตรวจสอบใกล้ชิด
- การใช้บัญชีที่สองเพื่อแบ่งประวัติการแก้ซึ่งทำให้ผู้เขียนอื่นไม่สามารถตรวจจับรูปแบบการมีส่วนร่วม
การใช้หลายบัญชีที่ยอมรับได้
ถึงแม้ว่าทางวิกิพีเดียจะไม่สนับสนุนการใช้งานหุ่นเชิด บางกรณียอมรับได้ เช่น
- ทดสอบ: สร้างชื่อบัญชีใหม่เพื่อทดสอบระบบการต้อนรับผู้ใช้ใหม่ และการตอบสนองจากชุมชน
- แบ่งการแก้ไขของตนเอง โดยผู้ใช้บางคนที่ต้องการมีชื่อบัญชีมากกว่าหนึ่งชื่อ เพื่อเข้าร่วมในสองโครงการหรือมากกว่าอย่างแยกกันต่างหาก เช่นการร่วมเขียนบทความ และการร่วมพัฒนาโครงการ ทางวิกิพีเดียแนะนำว่าให้ทำลิงก์เชื่อมโยงทั้งสองบัญชีนั้นแสดงว่าผู้ใช้คนนี้เป็นคนเดียวกัน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดตามมาทีหลังได้
- ความปลอดภัย: สร้างชื่อผู้ใช้ใหม่ในกรณีที่ใช้งานคอมพิวเตอร์สาธารณะ หรืออินเทอร์เน็ตคาเฟ่ โดยไม่ได้ใช้ชื่อบัญชีหลักเพื่อป้องกันการขโมยชื่อผู้ใช้และรหัสผ่าน บัญชีดังกล่าวควรเชื่อมถึงบัญชีหลักสาธารณะ หรือใช้ชื่อที่ระบุได้ง่าย เช่น ผู้ใช้:ตัวอย่าง และ ผู้ใช้:ตัวอย่าง (สำรอง)
- บอต เป็นโปรแกรมกึ่งอัตโนมัติที่แก้ไขวิกิพีเดีย
การสังเกตและจัดการหุ่นเชิด
หุ่นเชิดมักจะมีลักษณะที่สังเกตได้ง่ายหลายอย่างเช่น คุ้นเคยกับคำสั่งวิกิพีเดียหรือแม้แต่เขียนคำอธิบายอย่างย่อ สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับบทความที่กำลังเป็นที่ถกเถียงหรือกำลังเป็นที่แก้ไขได้ทันที รวมไปถึงการออกความเห็นหรือร่วมโหวตในส่วนของ บทความคัดสรร บทความคุณภาพ และภาพคัดสรร
หุ่นเชิดนอกจากแสดงความเห็นสนับสนุนของตัวคนเชิดแล้ว บางครั้งยังอาจแสดงความเห็นขัดแย้งอย่างแรงเพื่อให้เจ้าของหุ่นเชิด แสดงความเห็นคัดค้านที่โดดเด่นและเป็นที่ประทับใจได้ หุ่นเชิดประเภทนี้มักจะระบุได้ยาก เพราะมักจะมาแสดงความเห็นเพียงหนึ่งครั้งหรือสองครั้ง และจะไม่ทำการล็อกอินอีกต่อไป
แม้กระนั้นก็มีผู้ใช้หลายคนที่ศึกษาวิกิพีเดียมาเป็นเวลาหนึ่ง หรือมีส่วนร่วมในวิกิพีเดียภาษาอื่น แต่ไม่เคยมีส่วนร่วมในวิกิพีเดียไทย อาจจะเข้ามาแก้ไขบทความที่กำลังเป็นที่นิยม หรือกำลังเป็นที่โต้เถียงอย่างรุนแรง ซึ่งผู้ใช้กลุ่มนี้อาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นหุ่นเชิดได้
- ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ เรียงความเรื่อง "จุดสังเกตของหุ่นเชิด" (อังกฤษ)
การจัดการ
ถ้าโดนก่อกวนให้รายงานชื่อผู้ใช้งานและตัวหุ่นเชิดได้ ที่ด้านล่างของหน้านี้ ซึ่งจะถูกตรวจสอบโดยผู้ใช้อื่นหรือทางผู้ดูแลระบบ ถ้าเป็นกรณีที่ร้ายแรงทางหน่วยงานวิกิมีเดียสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลในฐานข้อมูลได้ ซึ่งไม่ขัดแย้งกับ นโยบายความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน
ถ้าคุณถูกแจ้งว่าเป็นหุ่นเชิดของคนอื่น อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะเวลาและผลงานของคุณจะเป็นเครื่องพิสูจน์เอง
ชื่อบัญชีที่เป็นตัวหุ่นเชิดควรถูกบล็อกอย่างไม่มีกำหนดและห้ามใช้งานอีกต่อไป สำหรับชื่อผู้ใช้ที่เป็นเจ้าของหุ่นเชิดนั้นอาจถูกบล็อกหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ดูแลระบบ เลขที่อยู่ไอพีที่ใช้เชิดหุ่นอาจถูกบล็อกด้วย
รายงานหุ่นเชิด
เมื่อพบหุ่นเชิดให้รายงานไว้ที่ หน้าแจ้งตรวจสอบหุ่นเชิด