โรเบิร์ต ฟลอยด์
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
โรเบิร์ต ดับเบิลยู ฟลอยด์ (อังกฤษ: Robert W Floyd) (8 มิถุนายน ค.ศ. 1936 - 25 กรกฎาคม ค.ศ. 2001) เป็นนักวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มีชื่อเสียง
ฟลอยด์เกิดที่นิวยอร์ก เขาเรียนจบมัธยมเมื่ออายุ 14 ปี จากนั้นเขาได้เรียนจบระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยชิคาโกในสาขาศิลปศาสตร์ในปี ค.ศ. 1953 (เมื่ออายุเพียง 17 ปี) และปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์ ในปี ค.ศ. 1958 เขาเริ่มทำงานเป็นผู้ปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ในต้นยุคทศวรรษที่ 60 และได้ตีพิมพ์ผลงานที่สำคัญหลายชิ้น จากนั้นมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนได้รับเข้าทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ เมื่อเขาอายุ 27 ปี และได้เข้าเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในอีก 6 ปีถัดมา เขาได้ตำแหน่งดังกล่าวโดยไม่มีวุฒิปริญญาเอก
ผลงานของเขา เช่น ขั้นตอนวิธีของฟลอยด์ สำหรับหาเส้นทางที่สั้นที่สุดในกราฟ และงานวิจัยเกี่ยวกับการแจงส่วน (parsing) ในผลงานตีพิมพ์ที่แยกเป็นอิสระชิ้นหนึ่ง เขาได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการเกลี่ยความผิดพลาดสำหรับการแสดงภาพ ที่เรียกว่า การเกลี่ยฟลอยด์-สไตน์เบิร์ก (Floyd-Steinberg dithering) ความสำเร็จที่สำคัญของเขาคือการบุกเบิกสาขาการทวนสอบโปรแกรมโดยใช้ข้อความยืนยันทางตรรกะ ในงานวิจัยชื่อ Assigning Meanings to Programs ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1967 งานชิ้นนี้เป็นต้นกำเนิดตรรกศาสตร์ฮอร์
ฟลอยด์ยังทำงานใกล้ชิดกับโดนัลด์ คนุท โดยเขาเป็นผู้ช่วยตรวจสอบหนังสือชุด ศิลปะของการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และเป็นผู้ที่ถูกอ้างถึงในหนังสือมากที่สุด
เขาได้รับรางวัลทัวริงในปี 1978 "สำหรับการมีอิทธิพลอย่างชัดเจนในกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพ และเชื่อถือได้ และสำหรับการช่วยเหลือในการก่อตั้งสาขาย่อยต่อไปนี้ของวิทยาการคอมพิวเตอร์: ทฤษฎีการแจงส่วน, อรรถศาสตร์ของภาษาโปรแกรม, การทวนสอบโปรแกรมอัตโนมัติ, การสังเคราะห์โปรแกรมอัตโนมัติ และการวิเคราะห์ขั้นตอนวิธี"
ฟลอยด์แต่งงานและหย่าสองครั้ง และมีลูกสี่คน งานอดิเรกของเขาคือแบ็กแกมมอน และการเดินป่า (hiking)