ชะมดแปลง
ชะมดแปลง ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: Middle Miocene–Present | |
---|---|
ชะมดแปลงลายจุด (P. pardicolor) | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Carnivora |
วงศ์: | Prionodontidae |
วงศ์ย่อย: | Prionodontinae Gray, 1933 |
สกุล: | Prionodon Horsfield, 1822 |
ชนิด | |
|
ชะมดแปลง (อังกฤษ: Asiatic linsang) เป็นสกุลของสัตว์กินเนื้อ ในวงศ์ชะมดและอีเห็น (Viverridae) สกุลหนึ่ง ใช้ชื่อสกุลว่า Prionodon (/ไพร-โอ-โน-ดอน/) ในวงศ์ย่อย Prionodontinae (หรือแยกออกมาเป็นวงศ์ต่างหาก คือ Prionodontidae)[1]
ชะมดแปลง เป็นชะมดจำพวกหนึ่งที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับชะมดส่วนใหญ่ทั่วไป แต่มีรูปร่างเพรียว มีหางยาว ความยาวลำตัวไม่เกิน 30 เซนติเมตร อาศัยและหากินส่วนใหญ่บนต้นไม้ ด้วยรูปร่างที่เพรียวยาวจึงทำให้ดูเผิน ๆ เหมือนงูไต่ตามต้นไม้มากกว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อุ้งตีนมีซองเก็บเล็บได้เหมือนสัตว์ตระกูลแมว มีสีขนตามลำตัวเป็นจุดหรือลายแถบคดเคี้ยวแตกต่างไปตามชนิด ส่วนหางเป็นปล้อง ๆ ไม่มีขนแผงคอหรือขนที่สันหลัง และมีลักษณะเด่นเฉพาะ คือ ไม่มีต่อมผลิตกลิ่น เหมือนชะมดหรืออีเห็นชนิดอื่น ๆ จึงได้ชื่อว่า ชะมดแปลง[2]
ชะมดแปลงนั้นจำแนกออกได้่เป็น 2 ชนิด คือ[3]
- Prionodon linsang - ชะมดแปลงลายแถบ
- Prionodon pardicolor - ชะมดแปลงลายจุด
ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้พบกระจายพันธุ์ในป่าดิบในหลายพื้นที่ของทวีปเอเชีย ตั้งแต่ อนุทวีปอินเดีย จนถึงเอเชียอาคเนย์ และแถบเทือกเขาตะนาวศรี, แหลมมลายู ไปจนถึงเกาะต่าง ๆ ของอินโดนีเซีย เป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางคืน ขณะที่กลางวันจะนอนหลับในโพรงไม้หรือพุ่มไม้ กินอาหารจำพวก นก, หนู, กระรอก หรือแมลงต่าง ๆ ปกติอาศัยอยู่ตามลำพัง ยกเว้นในช่วงฤดูผสมพันธุ์ คือ ราวเดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคม ออกลูกครั้งละ 2 ตัว[2]
จากการศึกษาทางดีเอ็นเอพบว่า ชะมดแปลงมีความเกี่ยวข้องกันทางพันธุกรรมกับชะมดแปลงอีกสกุลที่พบในทวีปแอฟริกา คือ Poiana มากกว่าที่จะเกี่ยวข้องกับสัตว์ตระกูลแมว[1]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Gaubert, P., & Veron, G. (2003). "Exhaustive sample set among Viverridae reveals the sister-group of felids: the linsangs as a case of extreme morphological convergence within Feliformia". Proceedings of the Royal Society, Series B, 270 270 (1532): 2523–30. doi:10.1098/rspb.2003.2521
- ↑ 2.0 2.1 หน้า 82-84, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน. 256 หน้า โดย กองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานประเทศไทย (กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2543) ISBN 974-87081-5-2
- ↑ จาก itis.gov
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Prionodon ที่วิกิสปีชีส์