(Translated by https://www.hiragana.jp/)
โนเกีย - วิกิพีเดีย ข้ามไปเนื้อหา

โนเกีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Nokia)
โนเกีย คอร์ปอเรชั่น
ประเภทมหาชน
(OMX: NOK­1V, NYSE: NOK, FWB: NOA3)
อุตสาหกรรมโทรคมนาคม
เทคโนโลยี
อิเล็กทรอนิกส์
ก่อนหน้าSuomen Gummitehdas
Suomen Kaapelitehdas Edit this on Wikidata
ก่อตั้ง12 พฤษภาคม ค.ศ. 1865 (159 ปี 176 วัน) (ตัมเปเร ราชรัฐฟินแลนด์)
ผู้ก่อตั้งเฟรดริก อิเดสตัม
ลีโอ มิเชลิน
เอดวร์ด โปลอน
สำนักงานใหญ่ฟินแลนด์ เอสโป ฟินแลนด์
บุคลากรหลักซาริ บัลดาอุฟ ประธานบริษัท
เพ็คก้า ลุนด์มาร์ค ประธานบริษัท และ CEO
ผลิตภัณฑ์โทรศัพท์เคลื่อนที่
สื่อประสม
รายได้เพิ่มขึ้น 24.91 พันล้านยูโร (2022)
รายได้จากการดำเนินงาน
เพิ่มขึ้น 2.318 พันล้านยูโร (2022)
รายได้สุทธิ
เพิ่มขึ้น 4.259 พันล้านยูโร (2022)
สินทรัพย์เพิ่มขึ้น 42.94 พันล้านยูโร (2022)
ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น 21.43 พันล้านยูโร (2022)
พนักงาน
ลดลง 86,896 (2022)
เว็บไซต์www.nokia.com

โนเกีย (อังกฤษ: Nokia) เป็นบริษัทวิศวกรรมด้านเทคโนโลยีสื่อสารและโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่​สัญชาติฟินแลนด์ ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1865 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเอสโป เขตมหานคร เฮลซิงกิประเทศฟินแลนด์ ในปี ค.ศ. 2020 โนเกียได้จ้างพนักงานประมาณ 92,000 คน[1] ดำเนินธุรกิจในจำนวนกว่า 130 ประเทศทั่วโลก โนเกียยังเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ที่มีการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์เฮลซิงกิ และตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก[2] นอกจากนี้จากการจัดอันดับของ ฟอร์จูนโกลบอล 500 โนเกียยังเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 415 ของโลก วัดจากรายได้ในปี ค.ศ. 2016 ประกอบด้วยยูโรสต็อกซ์ 50 และดัชนีตลาดหุ้น เคยติดอันดับสูงสุดถึงอันดับที่ 85[3] ในปี ค.ศ. 2009

โนเกียเริ่มดำเนินธุรกิจจากการทำเยื่อกระดาษ และอีกหลากหลายอุตสาหกรรม ก่อนที่จะมุ่งเน้นในโครงสร้างพื้นฐานด้านการโทรคมนาคมขนาดใหญ่ตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990[4] ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากต่ออุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ และการพัฒนามาตรฐานโทรศัพท์มือถือ จีเอสเอ็ม, 3 จี และแอลทีอี รวมถึงโครงข่าย 5G ในยุคปัจจุบัน โดยในระหว่างปี ค.ศ. 1998 ถึง ค.ศ. 2012 โนเกียขึ้นเป็นบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือขนาดใหญ่ที่สุดในโลกยาวนานถึง 14 ปี โนเกียมีส่วนในการผลักดันเทคโนโลยีหลายอย่างในสมาร์ทโฟน เช่น แอพลิเคชั่น, การทำโทรศัพท์ไร้เสาอากาศ, กล้องถ่ายภาพความละเอียดสูง, การรับส่งข้อความสั้น SMS และยังเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเทคโนโลยีกว่า 60,000 ฉบับ รวมถึงสิทธิบัตรมาตรฐานการผลิตสมาร์ทโฟนขั้นพื้นฐาน หรือ SEPs ที่หลายค่ายยังได้ใช้งานอยู่

ประวัติยุคแรก

[แก้]
สำนักงานใหญ่โนเกีย
โนเกีย 6230 และโนเกีย 6300 ซึ่งแสดงฟังก์ชั่นรูปแบบ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถปิดหรือเปิดเสียงได้อย่างรวดเร็ว

โนเกียไม่ได้เริ่มธุรกิจด้านอิเล็กทรอนิคเป็นพื้นฐานอย่างแรกของบริษัท แต่ได้เปิดบันทึกหน้าแรกของประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นผู้ผลิตเยื่อกระดาษ โดยมีวิศวกร Fredrik Idestam เป็นเจ้าของ

ย้อนเวลากลับไปยังปี ค.ศ. 1865 บริษัทโนเกียได้ก่อตั้งขึ้นบนริมฝั่งแม่น้ำ Nokia (โนเกีย) แม่น้ำสายใหญ่ในประเทศฟินแลนด์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วย ป่าไม้ และทะเลสาบนับว่าเป็นดินแดนที่เหมาะสมอย่างมากในการทำธุรกิจ เยื่อกระดาษในย่านนี้ และกลายมาเป็นโรงงานผู้ผลิตเยื่อกระดาษรายใหญ่ที่เติบโต อย่างรวดเร็ว แต่น่าเสียดายที่ Idestam ยังมีประสบการณ์ไม่เพียงพอในการทำงานด้านธุรกิจ จึงจำเป็นต้องหยิบยืมเทคโนโลยีมาจากประเทศเยอรมันในปี 1866 แต่นั่นก็ช่วยทำให้เขาพัฒนาบริษัทขึ้น

ต่อมาในปี 1867 นวัตกรรมที่ Idestam คิดค้นขึ้นก็ได้ชนะรางวัลเหรียญทองแดงในงาน Paris Wood Exposition ที่กรุงปารีส(ประเทศฝรั่งเศส) นับแต่วันนั้นมาชื่อของโนเกียได้กลายมาเป็นที่รู้จัก โนเกีย จึงได้ฉวยโอกาสนี้ประทับแบรนด์ของเขาบนผลิตภัณฑ์ทุกชนิดซึ่งสร้างชื่อเสียงได้มากขึ้น จนกระทั่งเครื่องผลิตกระดาษได้เข้ามามีบทบาทในการผลิตเยื่อไม้ในปี 1880 และได้มาเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ของโนเกีย จนเรียกได้ว่าร้อยละ 80 ของผลิตภัณฑ์นั้น คือ กระดาษห่อสีน้ำตาล รวมไปถึงวอลเปเปอร์สี

ต่อมาในปี 1902 Idestam ได้ขยายธุรกิจจากโรงงานกระดาษมาสู่ธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากเห็นว่าธุรกิจกระดาษที่ทำอยู่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าค่อนข้างมาก จึงได้ตัดสินใจสร้างโรงผลิตไฟฟ้าขึ้นเองในปี 1903 แต่แล้วในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มรสุมใหญ่ก็ผ่านเข้ามา ธุรกิจส่งออกกระดาษของโนเกียได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจนประสบภาวะขาดทุนอย่างรุนแรง แต่ในขณะเดียวกันนั่นเองธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้ากลับเติบโตอย่างรวดเร็วเพราะการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมากในประเทศฟินแลนด์ ทำให้ช่วยพยุงกิจการด้านกระดาษที่ขาดทุนอย่างสูงไว้ได้ในระดับหนึ่ง

และในปี 1918 บริษัท Finnish Rubber Works (FRW) ซึ่งเป็นบริษัทผู้นำผลิตภัณฑ์ยางในประเทศฟินแลนด์และเป็นหนึ่งในลูกค้ารายสำคัญของโรงงานผลิตไฟฟ้าของโนเกียได้มาเป็นหุ้น ส่วนรายใหญ่ของโนเกียหลังจากที่โนเกียไม่สามารถรองรับการขาดทุนของธุรกิจได้จนต้องตกไปเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท FRW แทน

จากนั้นใน ปี 1922 บริษัท Cable Works ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านสายเคเบิลและสายโทรศัพท์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Nokia group จากความสนใจของบริษัท FRW แม้จะมีความหลากหลายของธุรกิจที่รวมเข้าด้วยกันแต่โนเกียก็ยังคงผลิตสินค้าออกมาทั้ง 3 ประเภท คือกระดาษ ผลิตภัณฑ์ยาง (รองเท้ายาง ยาง รถยนต์) และสายเคเบิล โดยสินค้าทั้งหมดออกจำหน่ายในนามของโนเกีย

ยุคของอิเล็กทรอนิคกับโนเกียได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังในปี 1977 ภายใต้การดูแลของ Kari Kairamo ประธานบริษัทซึ่งได้เรียนรู้ประสบการณ์จากการทำงานในประเทศสหรัฐอเมริกา แตกต่างจากรุ่นก่อนหน้านี้ที่จะมีหัวไปทางรัสเซียโดยผลิตสินค้าส่งออก คือ สายไปเคเบิล ให้กับ ประเทศรัสเซีย Kairamo นำแนวคิดแบบตะวันตกและแหวกแนวมาประยุกต์มุ่งเน้นให้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิคให้เข้ากับยุคแห่งพลังงานจนกลายมาเป็นธุรกิจหลักของโนเกียในยุคนี้เป็นต้นมาโดยผลิตโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ออกมาเบิกทางในตลาด ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงกับการติดอันดับผู้ผลิตโทรทัศน์รายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของยุโรปเลยทีเดียว

ยุคโทรศัพท์มือถือ​

[แก้]

ก้าวมาสู่ยุคแห่งการสื่อสารไร้สายในการนำของรองประธานกรรมการอาวุโสและกรรมการบริหารการเงิน Jorma Ollila ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานตั้งแต่ปี 1992 - 1999 และ CEO ของโนเกียในปี 1999 จนตราบถึงทุกวันนี้ด้วยแนวคิดของ Ollila ภายใต้การดูแลของ Kairamo นั้น โนเกียกับโทรศัพท์เคลื่อนที่จึงได้ถือกำเนิดขึ้น

โดยในยุคแรกนั้นจะเป็น NMT Mobile Phone Standard (Nordic Mobile Telephony) หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่อนาล็อกรุ่นแรกนั่นเอง และได้รับความนิยมอย่างสูงเมื่อเผยโทรศัพท์ NMT รุ่นแรกในปี 1987 โดยมีสโลแกน "Connecting People" กับแนวคิดที่ต้องการเปิดอิสระและความต่อเนื่องในการติดต่อสื่อสาร จนกระทั่งกลายมาเป็นคำที่อยู่ในใจของผู้รักโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบันกันถ้วนหน้า

ไม่นานระบบเครือข่ายที่ดีขึ้นก็เป็นที่ต้องการในสังคม โนเกียจึงพัฒนาเครือข่าย GSM ขึ้นเป็นครั้งแรกให้กับ Radiolinja บริษัทของฟินแลนด์ เมื่อปี 1989 ณ จุดนี้เองที่ Nokia 1011 บรรพบุรุษของบรรดาโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุคปัจจุบันได้ออกมาสู่สายตาของทุกคนเป็นครั้งแรกในปี 1992 จากนั้นโนเกียก็ได้ยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นธุรกิจหลักเป็นต้นมา

โนเกียไม่ได้ผลิตเพียงแค่โทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น แต่ยังพัฒนาอุปกรณ์เสริมและเทคโนโลยีต่างๆไปพร้อมๆกันในตัว แนวคิดแรกที่ถือว่าโนเกียเป็ยผู้บุกเบิกเลยก็คือ ความสามารถในการเปลี่ยนหน้ากากซึ่งได้กลายเป็นลูกเล่นหลักของโทรศัพท์เคลื่อนที่จากโนเกียในเวลาต่อมา นอกจากนี้เทคโนโลยีการสนทนาอย่าง Push-to-Talk (PTT) กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็มาจากโนเกียอีกเช่นกัน

วันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 2006 บริษัท Siemens AG ได้เข้ารวมกับโนเกียในการพัฒนาธุรกิจเครือข่าย มุ่งหวังจะกลายเป็นบริษัทเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุด โดยมีส่วนแบ่งเท่าเทียมกันที่ร้อยละ 50 และอยู่ในนามของ Nokia Siemens Networks แต่ภายหลังทางโนเกียได้เข้าซื้อหุ้นส่วนที่บริษัท Siemens AG ได้ถืออยู่คืนทั้งหมดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2013 ด้วยมูลค่า 1,700 ล้านยูโร (ราวๆ 58,000 บาท) [5] และได้เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น Nokia Solutions and Networks (NSN) [6]

วันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 2013 โนเกียได้ขายกิจการด้านโทรศัพท์ให้ไมโครซอฟท์ทั้งหมด ในราคา 7.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาในวันที่ 25 เมษายน 2557 ไมโครซอฟท์ได้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ โมบาย ซึ่งจะเป็นในฐานะบริษัทลูก[7]

วันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 2016 โนเกียได้หมดสัญญาผูกพันกับทางไมโครซอฟท์ ที่ห้ามดำเนินการจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนในชื่อโนเกีย และได้จัดการมอบสิทธิ์ในการใช้แบรนด์และเทคโนโลยีที่รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ให้กับทาง HMD global เป็นตัวแทนในการผลิตและจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์จนถึงปัจจุบัน[8]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Morris, Iain. "Nokia has cut 11,000 jobs in effort to boost profit". Light Reading. สืบค้นเมื่อ 2023-08-06.
  2. "Nokia – FAQ". Nokia Corporation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-08. สืบค้นเมื่อ 2023-08-06.
  3. "Fortune Global 500 (100)2009". Rankingthebrands.com. Fortune. สืบค้นเมื่อ 2023-08-06.
  4. "This is the new Nokia". The Verge. สืบค้นเมื่อ 2023-08-06.
  5. http://www.blognone.com/node/45963
  6. https://www.blognone.com/node/47303
  7. "Nokia จะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Microsoft Mobile". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-25. สืบค้นเมื่อ 2014-04-25.
  8. คนคุ้นเคย Nokia เตรียมคืนสังเวียนสมาร์ทโฟนร่วมทุนกับ Foxconn ทำแบรนด์ HMD

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]