คิงคาจู
คิงคาจู | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Carnivora |
วงศ์: | Procyonidae |
สกุล: | Potos Geoffroy Saint-Hilaire & Cuvier, 1795 |
สปีชีส์: | P. flavus |
ชื่อทวินาม | |
Potos flavus (Schreber, 1774) | |
ชนิดย่อย | |
| |
การกระจายพันธุ์ของคิงคาจู |
คิงคาจู หรือ หมีน้ำผึ้ง (อังกฤษ: kinkajou, honey bear; ชื่อวิทยาศาสตร์: Potos flavus) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับสัตว์กินเนื้อชนิดหนึ่งในวงศ์แร็กคูน (Procyonidae) มีความใกล้ชิดทางชีวภาพกับโอลิงกีโต โคอาที แร็กคูน ริงเทล และ แคโคมิสเซิล นับเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Potos ที่ยังสืบเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน แบ่งออกได้เป็น 7 ชนิดย่อย (ดูในตาราง[2])
คิงคาจูเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 60 เซนติเมตร มีขนสั้นและหนานุ่มสีน้ำผึ้งทองหรือสีน้ำตาล มีหัวและใบหูกลม ใบหน้าและดวงตากลมโตเหมือนแมว น้ำหนักตัวประมาณ 4-10 ปอนด์ ออกหากินในเวลากลางคืน ใช้เสียงในการสื่อสาร ปกติหากินและอาศัยอยู่ตามยอดไม้สูง ชอบกินผลไม้ เกสรดอกไม้ น้ำผึ้ง และน้ำต้อยจากดอกไม้ มีลิ้นที่ยาวมากถึง 7 นิ้ว ใช้สำหรับดูดกินน้ำผึ้งหรือน้ำต้อยของดอกไม้ และก็สามารถกินสัตว์เล็ก ๆ เป็นอาหารได้อีกด้วย[3] สามารถใช้หางและเท้าเกาะเกี่ยวและทรงตัวบนต้นไม้และกิ่งไม้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะส่วนเท้าสามารถหมุนกลับด้านได้ถึง 180 องศา อีกทั้งยังมีต่อมกลิ่นพิเศษใกล้ปาก, คอ และพื้นท้อง ซึ่งจะใช้สำหรับแสดงอาณาเขตครอบครอง มีความยาวหางเท่ากับลำตัว[3] โดยที่ชื่อวิทยาศาสตร์ของคิงคาจูนั้น มีความหมายว่า "นักดื่มสีทอง" อันหมายถึงสีขนและพฤติกรรมการกินอาหาร[4]
นอกจากเป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางคืน จึงมีดวงตาที่กลมโตสำหรับใช้ในการรวมแสงเพื่อการมองเห็นในที่มืด ปกติในเวลากลางวันจะซึมเซาหรือหลับนอน แต่ในเวลากลางคืนจะตื่นตัว
พบกระจายพันธุ์ในป่าทึบ และป่าหลากหลายประเภท เช่น ป่าเสื่อมโทรม พบได้ทั้งพื้นที่ราบและพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล[1] ของทวีปอเมริกากลางและภาคเหนือของทวีปอเมริกาใต้ เป็นสัตว์ที่ออกลูกเป็นตัว ครั้งละตัว นาน ๆ ครั้งจึงจะมีเป็นฝาแฝด มีระยะเวลาตั้งท้องนาน 4 เดือน ลูกอ่อนใช้เวลานาน 2 สัปดาห์จึงจะลืมตา คิงคาจูเป็นสัตว์ที่รักสันโดษมักอาศัยอยู่ตัวเดียว เมื่อจะออกลูก จะออกในโพรงไม้[4][5] แต่ก็เป็นสัตว์ที่ดุร้ายเมื่อมีภัยใกล้ตัว[3]
คิงคาจูถูกล่าจากชาวพื้นเมืองเพื่อนำขนและหนังไปผลิตเป็นกระเป๋าและอานม้า รวมทั้งบริโภคเป็นอาหาร[3] อีกทั้งยังนิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงสำหรับผู้ที่นิยมเลี้ยงสัตว์แปลก ๆ โดยมีบันทึกว่ามีอายุสูงสุดในที่เลี้ยงได้ 23 ปี ขณะที่มีวงจรชีวิตนานที่สุดถึง 41 ปี[6]
ในประเทศไทย คิงคาจูมีจัดแสดงเพียง 3 ที่เท่านั้นในสวนสัตว์ คือ สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์นครราชสีมา และเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี สำหรับเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีมีคิงคาจูมากถึง 11 ตัว และมีการแพร่ขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงด้วย[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Kays, R., Reid, F., Schipper, J. & Helgen, K. (2008). Potos flavus. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 26 January 2009.
- ↑ Wozencraft, W. C. (2005). "Order Carnivora". In Wilson, D. E.; Reeder, D. M. Mammal Species of the World (3rd ed.). Johns Hopkins University Press. p. 626. ISBN 978-0-8018-8221-0. OCLC 62265494.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 เขาดินเปิดตัว "คิงคาจู" สัตว์ป่าหายาก จากสำนักข่าวไทย[ลิงก์เสีย]
- ↑ 4.0 4.1 ZOO NEWS สมาชิกใหม่สวนสัตว์ดุสิต คิงคาจู จากยูทูบ
- ↑ 5.0 5.1 ไนท์ซาฟารีโชว์ลูกคิงคาจู-หมีขอสัตว์ป่าหายาก จากคมชัดลึก[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Kinkajou". Honolulu Zoo web site. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-06. สืบค้นเมื่อ 2013-05-12.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Potos flavus ที่วิกิสปีชีส์